อาหารฟังก์ชั่น อาหารแห่งอนาคตที่ไม่ควรพลาด

              ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์ว่านอกเหนือจากคุณค่าทางโภชนาการพื้นฐาน (คาร์โบไฮเดรตโปรตีน ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่) แล้ว ร่างกายมนุษย์ยังต้องการสารอาหารอีกชนิดหนึ่ง นั่นก็คือ สารอาหารฟังก์ชัน (Functional Ingredients) ซึ่งสารกลุ่มนี้ให้คุณประโยชน์ต่อร่างกายอย่างจำเพาะเจาะจงต่อระบบใดระบบหนึ่งของร่างกาย เช่น เพิ่มภูมิคุ้มกัน ชะลอวัย หรือลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง
                    การพัฒนาอาหารฟังก์ชันมาจากแนวคิดของ “การใช้อาหารเป็นยา” ซึ่งในอดีตอาหารใช้รักษาโรคขาดสารอาหาร แต่ปัจจุบัน “อาหารฟังก์ชัน หมายถึงอาหารที่มีคุณค่าต่อสุขภาพนอกเหนือจากคุณค่าปกติที่ได้จากอาหารที่บริโภคในชีวิตประจำวัน รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางชนิดให้แก่ผู้ที่บริโภคอาหารนั้น” จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลรักษาสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและได้รับความนิยมอย่างมากท่ามกลางพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เร่งรีบและมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนประกอบสำคัญของอาหารฟังก์ชันที่นิยมใช้ในปัจจุบัน

        1. เส้นใยอาหาร (Dietary fiber)

            เส้นใยอาหาร คือส่วนประกอบที่เป็นกากอาหารของพวกพืชผัก ผลไม้ ธัญพืชทั้งเมล็ด เช่น ข้าวเจ้า ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ และข้าวโพด ถั่วเมล็ดแห้งและเมล็ดพืช เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดงหลวง ถั่วแดง ถั่วดำ เมล็ดทานตะวัน และเมล็ดฟักทอง และแหล่งอื่น ๆ ได้แก่ โอลิโกแซคคาไรด์ (Oligosaccharide) และอินนูลิน (Inulin) พบมากในกล้วยหอม หัวหอม กระเทียมและหน่อไม้ฝรั่ง รวมทั้งราชาของใยอาหารที่มาจากพืช “ไซเลียม ฮัสค์ Psyllium Husk” โดยแบ่งเป็น 2 ชนิด
            1. ใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำ (Insoluble dietary fiber) มีคุณสมบัติพองตัวดูดซึมน้ำ ซึ่งจะเพิ่มปริมาณในกระเพาะอาหาร จึงทำให้อิ่มเร็ว กระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้มีการบีบตัวได้ดี แหล่งอาหารที่พบ เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ผักต่าง ๆ ถั่วเปลือกแข็ง เผือก มัน และขนมปังโฮลวีท เป็นต้น
            2. ใยอาหารที่ละลายน้ำได้ (Soluble dietary fiber) มีคุณสมบัติในการละลายน้ำได้ดีและพองตัวเป็นเจลในลำไส้ ทำให้ลำไส้ย่อยและดูดซึมอาหารช้าลง ช่วยลดอัตราการดูดซึมน้ำตาล แหล่งอาหารที่พบ เช่น ธัญพืช ที่ขัดสีน้อย ถั่วเมล็ดแห้งบางชนิด เช่น ถั่วแดงหลวง ผลไม้บางชนิด เช่น ส้ม ฝรั่ง แอปเปิล ลูกพรุนและสตรอเบอร์รี
           น้ำย่อยในกระเพาะอาหารและลำไส้ไม่สามารถย่อยสลายเส้นใยอาหารได้ จึงถูกขับออกมากับอุจจาระ โดยใยอาหารไม่ใช่สารอาหารจึงไม่มีพลังงาน แต่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ลดคอเลสเตอรอล มีบทบาทต่อการควบคุมน้ำหนัก ทำให้รู้สึกอิ่มและลดการบริโภคอาหารในปริมาณมากเกินความจำเป็น ตัวอย่างอาหารฟังก์ชัน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ขนมอบเสริมใยอาหาร เครื่องดื่มเสริมใยอาหาร ธัญพืชเสริมใยอาหาร เป็นต้น

        2. พรีไบโอติค (Prebiotic)
         พรีไบโอติค หมายถึง อาหารที่มีน้ำตาลโอลิโกแซคคาไรด์ (Oligosaccharide) ซึ่งเป็นอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ (โพรไบโอติค) ในลำไส้ใหญ่ที่มีประโยชน์ ทำให้เชื้อจุลินทรีย์เหล่านี้เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยป้องกันจุลินทรีย์ชนิดที่ก่อโรคเจริญเติบโตได้ กระตุ้นการขับถ่าย ลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ พรีไบโอติค  ที่นิยมใช้คือ Inulin, Fructo-oligosaccharide (FOS), Lactulose และ Galacto-oligosaccharides (GOS), Psyllium Husk

        3. โพรไบโอติค (Probiotic)
           โพรไบโอติค หมายถึง เชื้อจุลินทรีย์ที่มีชีวิตชนิดที่สร้างกรดแลคติคในปริมาณที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกาย ตัวอย่างโพรไบโอติค ได้แก่ แบคทีเรียที่สร้างกรดแลคติค (Lactic acid bacteria, LAB) เช่น แลกโตบาซิลลัส (Lactobacillus) บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) โดยจะช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรค โดยกลไกหลั่งสารหลายชนิดออกมาต่อต้าน กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเพื่อต่อสู้กับเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตราย โพรไบโอติคที่เจริญเติบโตจะไปแย่งที่มิให้เชื้อโรคเจริญเติบโต เกาะติดและทำอันตรายต่อผนังลำไส้ และถูกขับออกทางอุจจาระ
          นอกจากนี้โพรไบโอติคยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ฟอสฟอไลปิด และไตรกลีเซอไรด์ ช่วยลดอาการท้องผูก สามารถขับถ่ายได้สะดวกมากขึ้น รวมทั้งช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมในระบบย่อยอาหารและสามารถผลิตวิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินบีหนึ่ง บีสอง วิตามินเอช (Biotin) กรดไนโคไทนิค (Nicotinic acid) และกรดโฟลิค (Folic acid) ได้
           เหตุผลของผลิตภัณฑ์โพรไบโอติค เป็นทางเลือกสำหรับเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เนื่องจากอาหารขยะ เครื่องดื่มที่เติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ความเครียดจากการทำงาน และอาหารที่กินทั่วไป อาจมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร โดยไปทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในลำไส้ อันได้แก่ คีเฟอร์ (Kefir) คอมบูชา (Kombucha)   โคจิ (Koji)

        4. เปปไทด์ (Peptide)
       โปรตีนในอาหารหลายชนิดเป็นสารตั้งต้นของเปปไทด์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ (bioactive peptides) ซึ่งได้จากกระบวนการไฮโดไลซ์ (Hydrolyzed) จึงมีประโยชน์มากมาย เช่น ช่วยการดูดซึมแร่ธาตุและลดการสูญเสียแคลเซียม ลดความล้าของกล้ามเนื้อ สร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ควบคุมความดันโลหิต ควบคุมระดับคอเลสเตอรอล อีกทั้งยังสามารถปรับสมดุลของระบบูมิคุ้มกัน มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ ต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น
      โปรตีนจากพืชโดยเฉพาะพืชตระกูลถั่วเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่เหมาะสมในการทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการที่เพียงพอ เป็นแหล่งของใยอาหาร แคลเซียม และเหล็ก มีกรดไขมันอิ่มตัวต่ำและคอเลสเตอรอลต่ำ ที่สำคัญโปรตีนอุดมไปด้วยสารพฤกษเคมี จึงมีประโยชน์ในการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น ไขมันในเลือดผิดปกติ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และโรคเบาหวาน เป็นต้น ตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ได้แก่ อาหารนักกีฬา เครื่องดื่มเสริมกรดอะมิโน

        5. กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน
        กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน หรือ PUFAs หมายถึง กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีพันธะคู่ตั้งแต่ 2 ตำแหน่งขึ้นไป สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
        1) กรดไขมันโอเมกา-3 เช่น Alpha-Linolenic acid (ALA), Steridonic acid (STA), Eicosapentaenoic acid (EPA) และ Docosahexaenoic acid (DHA)
         2) กรดไขมันโอเมกา-6 เช่น Conjugated linoleic acid (CLA), Gamma-linolenic acid (GLA) และ Arachidonic acid (ARA หรือ AA)
        PUFAs มีประโยชน์ต่อร่างกายคือ ต้านการอักเสบ ปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคหัวใจ และป้องกันหลอดเลือดแดงแข็งตัว นอกจากนี้กรดไขมัน DHA และ EPA มีความสำคัญต่อร่างกายคือเป็นส่วนประกอบที่มีความจำเป็นของเซลล์สมองของมนุษย์ ลดความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจตาย และภาวะลิ่มเลือด ทั้งยังสามารถบำรุงระบบประสาทและระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยในการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์มารดาและเด็ก ตัวอย่างอาหารฟังก์ชัน เช่น เมล็ดแฟลกซ์ เมล็ดเจีย วอลนัท

         6. สารพฤกษเคมี (Phytochemical)
        เป็นสารเคมีกลุ่มหนึ่งจัดเป็นสารอาหารฟังก์ชันกลุ่มใหญ่ พบได้ในพืชผักและผลไม้ที่มีสีสันต่าง ๆ มักมีสารกลุ่มนี้อยู่ในปริมาณมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโพลีฟีนอล (Polyphenols) เช่น ฟลาโวนอยด์ แอนโทไซยานิน ลิกแนน แทนนิน เคอร์คูมิน กรดเอลลาจิค กลุ่มแคโรทีนอยด์ เช่น เบต้าแคโรทีน ไลโคปีน วิตามินซี วิตามินอี กรดแกลลิค นับได้ว่า “อาหารฟังก์ชันเป็นทางเลือกใหม่” ที่คนรักสุขภาพนิยมเลือกรับประทานเพื่อเสริมสารอาหารหลักสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้อย่างหลากหลาย เป็นไปตามหลักการเปลี่ยนอาหารให้เป็นยา และที่สำคัญคือช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอ ส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง และลดความเสี่ยงโรคต่าง ๆ ทั้งนี้เราควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้แจ่มใส พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ทำร้ายร่างกาย

 

แหล่งอ้างอิง

ศนิ จิระสถิตย์. (2561). สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในอาหารเพื่อสุขภาพ. วารสารวิทยาศาสตร์บูรพา, 23(3), 1617-1637.

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรกรและอาหารแห่งชาติ. (2565). ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ: เทรนด์อาหารที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบัน. วารสารเพื่อการเตือนภัยสินค้าเกษตรกรและอาหาร, 14(3), 1-15.

 

TAG
FOLLOW ME
Health & Wellness
Bring Happiness to Your
Good Health and Good Life

บริษัท เวลเนส กรีน ไลฟ์ จำกัด
ช65/4-5 ถ.สวรรค์วิถี ต.ปากน้ำโพ
อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ 60000

Tel : 091-459-6662 หรือ 056-222-662
Facebook : เวลเนส กรีน ช็อป
                 สาขานครสวรรค์
Line ID : @wglgoodlife
e-Mail : wellness.nsn@gmail.com
              info@wellnessgreenlife.co.th
www.wellnessgreenlife.com :  www.wellnessgreenlife.co.th :  www.wellnessgoodlifeshop.com
Copyright © 2021 Wellness Green Life All Rights Reserved.