อันตรายจากการรับประทานน้ำตาลมากเกินไป

     น้ำตาล (Sugar) คือสารให้ความหวาน (sweetener) ที่เป็นคาร์โบไฮเดรตประเภทหนึ่ง ที่ผู้ผลิตปัจจุบัน   มักนิยมใช้เป็นส่วนประกอบหลักของอาหารและเครื่องดื่มกันอย่างแพร่หลายเพื่อให้มีรสชาติอร่อย ซึ่งองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO)แนะนำว่า “ปริมาณน้ำตาลสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรบริโภคไม่เกิน 4 ช้อนชา หรือ 16 กรัมต่อวัน สำหรับวัยรุ่นหญิงชายและวัยทำงาน ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัมต่อวันแต่จากการสำรวจของกรมอนามัยและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลมากถึงวันละ 20 ช้อนชา เกินกว่าปริมาณแนะนำกว่า 3 เท่า รวมทั้งสถิติผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วนก็มีอัตราสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
      เป็นที่ทราบกันดีว่า “การบริโภคน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไปจะเพิ่มโอกาสของการเกิด non-communicable diseases (NCDs) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลจึงมีเป้าหมายหลักคือ เพื่อลดการบริโภคน้ำตาลและลดปริมาณพลังงานที่ได้รับต่อวัน (พัชญา บุญชยาอนันต์, 2565; World Health Organization, 2015)

        น้ำตาล เป็นสารให้ความหวาน (sweetener) ที่เป็นคาร์โบไฮเดรต โดยมีอยู่ 3 ชนิดคือ
       1. น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (Monosaccharide) เช่น กลูโคส (glucose), ฟรุกโทส (fructose), กาแล็กโทส (galactose)
       2. น้ำตาลโมเลกุลคู่ (Disaccharide) เช่น ซูโครส (sucrose), แล็กโทส (lactose), มอลโทส (maltose)
       3. น้ำตาลโมเลกุลใหญ่ (polysaccharide) เช่น แป้ง (starch), ไกลโคเจน (glycogen), เซลลูโลส (cellulose)
       โดย น้ำตาลที่ใช้ในอาหาร ได้แก่ น้ำตาลซูโครส (sucrose) น้ำตาลกลูโคส (glucose) กลูโคสไซรับ (glucose syrup) น้ำตาลฟรุกโทส (fructose) ฟรุกโทสไซรับ (fructose syrup) และน้ำตาลแล็กโทส (lactose)

        น้ำตาลกลูโคส (Glucose)
       เป็นน้ำตาลประเภทเดียวกันกับน้ำตาลในเลือด ร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองได้ตามธรรมชาติโดยสังเคราะห์ขึ้นที่ตับ จากการเปลี่ยนพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตที่ได้จากอาหาร จากนั้นกลูโคสก็จะถูกดูดซึมเข้าสู่ตับ และถูกส่งต่อไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย กลูโคสจึงเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่หล่อเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์สมอง
       อาหารที่สามารถพบน้ำตาลกลูโคสส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีรสชาติหวานเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นผลไม้รสหวาน เช่น องุ่นเขียว น้อยหน่า ฝรั่ง ขนุน กล้วยน้ำว้า มะขามหวานสีทอง แอปเปิ้ล กล้วยหอม ลองกอง ลิ้นจี่ กล้วยไข่ เชอร์รี่ เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถพบได้ในอาหารจำพวกน้ำผึ้งและข้าวโพด อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคบางชนิด เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ควรหลีกเลี่ยงกลูโคสเพราะจะทำให้ร่างกายได้รับปริมาณพลังงานของน้ำตาลเกินความจำเป็น    แต่สำหรับในบุคคลทั่วไป การได้รับกลูโคสในปริมาณที่พอเพียงจะช่วยให้ร่างกายมีพลังงานในการทำกิจกรรม   ต่าง ๆ ได้ดี จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการพลังงานในการทำกิจกรรม เช่น นักวิ่ง นักกีฬา รวมทั้งเหมาะกับผู้ที่อ่อนเพลียง่าย ไม่รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ทั้งนี้หากได้รับเกินความต้องการจะส่งผลให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

        น้ำตาลฟรุกโทส (Fructose)
        คือ น้ำตาลที่พบได้มากในผักและผลไม้ที่มีรสหวาน รวมทั้งน้ำผึ้ง นิยมนำมาใช้สำหรับผสมเครื่องดื่ม เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม และน้ำผลไม้ที่มีรสหวาน น้ำตาลฟรุกโทสไม่มีส่วนในการให้พลังงานแก่สมองและกล้ามเนื้อ เมื่อเข้าไปในกระแสเลือดจะถูกนำไปสะสมที่ตับโดยตรง หากรับประทานในปริมาณมากก็จะทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ และสามารถพัฒนาเป็นภาวะตับแข็ง นำไปสู่มะเร็งตับได้ นอกจากนี้ฟรุกโทสยังไประงับการหลั่งของสารอินซูลินจึงทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคที่เกิดจากการ       เผาผลาญอาหารผิดปกติ เช่น โรคความดันสูง น้ำตาลในเลือดสูง โรคอ้วนลงพุง ระดับคอเลสเตอรอลผิดปกติ     (ไตรกลีเซอร์ไรด์และ LDL-C สูง) ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคเบาหวานอีกด้วย โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มีโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้มากและเร็วกว่าคนที่ไม่เป็น เนื่องจากอินซูลินเป็น Growth Factor ตัวหนึ่งที่กระตุ้นการโตของเนื้อเยื่อและเซลล์ เร่งให้มีติ่งเนื้อโตเร็วและพัฒนาเป็นมะเร็งได้เร็วขึ้น
        ในผลไม้ทั่วไปนั้น มีปริมาณฟรุกโตสอยู่เพียงแค่ 5% เท่านั้น ยกเว้นบางชนิด เช่น น้ำผึ้ง มะเดื่อฝรั่ง       อินทผาลัม ที่ให้ปริมาณฟรุกโตสมากถึง 10% นอกจากนี้ยังมีผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง (ฟรุกโตส/100 กรัม) เช่น ทุเรียนสุก (24 กรัม) มะม่วงสุก (21.7 กรัม) กล้วยไข่/กล้วยน้ำว้า (18.3 กรัม) เงาะ (19.4 กรัม) มะขามหวาน (23.4 กรัม) ลองกอง (5.2 กรัม) ลิ้นจี่ (17.9 กรัม) ส่วนตัวอย่าง ผลไม้น้ำตาลน้อย (ฟรุกโตส/100 กรัม) เช่น ชมพู่ (5.8 กรัม)แตงโม (5.2 กรัม) ฝรั่ง (4.7 กรัม) สตรอเบอร์รี่ (0.7 กรัม) มะนาว (1.7 กรัม) ดังนั้นการรับประทานผลไม้ที่มี     ฟรุกโตส จึงถือว่าเป็นระดับที่ปลอดภัยต่อร่างกาย ให้คุณประโยชน์มากกว่าโทษ เพราะในผลไม้นั้นมีสารอาหารประเภทอื่น ๆ ที่ดีต่อสุขภาพ เช่น วิตามิน เกลือแร่ และกากใย
        น้ำเชื่อมที่มีฟรุกโตสสูง (Hight Fructose Corn Syrup – HFCS) จึงถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วง พ.ศ. 2490 โดยสกัดมาจากข้าวโพด มีราคาถูกกว่าน้ำตาลทรายจากอ้อย น้ำเชื่อมฟรุกโตสนี้ถือว่าเป็นมหันตภัยของความหวานอันดับแรก ๆ ที่เราควรหลีกเลี่ยง ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหารต่าง ๆ จึงนิยมหันมาใช้ ฟรุกโตสไซรัป (Fructose Syrup) ที่เราเรียกว่า น้ำเชื่อมฟรุกโตส หรือน้ำเชื่อมข้าวโพด เพราะให้ความหวานกว่าน้ำตาลทรายถึง 6 เท่า แต่ราคาถูกกว่าน้ำตาลทรายทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้ จึงถูกนำไปใช้แทนน้ำตาลในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ใช้เป็นส่วนประกอบอาหารแทบทุกชนิด ตั้งแต่คุกกี้ ไอศกรีม ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มต่าง ๆ
       ดังนั้นเราจึงควรรับประทานในปริมาณที่พอเพียง การบริโภคน้ำเชื่อมฟรุกโตสปริมาณสูงถึงร้อยละ 42 - 55 เป็นการทำลายระบบการทำงานของตับและไประงับฮอร์โมนอิ่ม (Leptin hormone) ทำให้เกิดความอยากอาหารตลอดเวลา ทำให้รับประทานอาหารเกินความต้องการ และกลายเป็นโรคอ้วนในเวลาต่อมาได้

        น้ำตาลซูโครส  (Sucrose)
        เป็นอีกชื่อหนึ่งของน้ำตาลทราย เป็นน้ำตาลที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติซึ่งพบได้ในพืชผักผลไม้เกือบทุกชนิดและเมล็ดธัญพืชต่าง ๆ  เมื่อผลไม้สุกปริมาณซูโครสมักจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ผลไม้บางชนิดแทบไม่มีซูโครส เช่น องุ่น เชอร์รี่ บลูเบอร์รี่ แบล็กเบอร์รี่ มะเดื่อ ทับทิม มะเขือเทศ อะโวคาโด และมะนาว น้ำตาลซูโครสให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลกลูโคส โดยมักผลิตจากหัวบีทและอ้อย เนื่องจากจะเก็บซูโครสไว้ในปริมาณที่มากที่สุด ผู้ผลิตส่วนใหญ่จึงนิยมใช้น้ำตาลซูโครสมาเป็นวัตถุดิบหลักในการเพิ่มรสชาติความหวานให้กับอาหารประเภทต่าง ๆ เช่น ซีเรียล อาหารสำเร็จรูป ไอศกรีม เบเกอรี่ หมากฝรั่ง และลูกอม เป็นต้น
        ร่างกายจะสามารถดูดซึมน้ำตาลซูโครสจากอาหารที่รับประทานเข้าไปได้ทางลำไส้เล็ก โดยในกระบวนการดูดซึมนั้น ลำไส้เล็กจะมีการหลั่งเอนไซม์ซูเครส (Sucrase) เพื่อย่อยน้ำตาลซูโครสให้ออกมาเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ได้แก่ น้ำตาลฟรุกโตส และกลูโคส หลังจากนั้นจะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด โดยน้ำตาลซูโครสและฟรุกโตส   จะทำให้ระดับไขมัน กลูโคส อินซูลินและกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดและโรคเบาหวาน ดังนั้นการรับประทานน้ำตาลเกินความต้องการ เมื่อใช้ไม่หมดจะเป็นพลังงานส่วนเกินและเปลี่ยนรูปเป็นไขมันเก็บสะสมในร่างกายอันเป็นสาเหตุของ “ภาวะอ้วนลงพุง” ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และไขมันอุดตันในเส้นเลือด

 

อันตรายจากการทานน้ำตาลปริมาณสูง

        1. โรคอ้วน
         โรคอ้วนเกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่มีการออกกำลังกายน้อย/มีกิจกรรมน้อย ในขณะเดียวกันมีการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลสูง ไขมันสูง และใยอาหารต่ำ โดยเฉพาะการบริโภคอาหารกลุ่มข้าวแป้ง นั่นก็คือ กลูโคสเกินความต้องการเป็นประจำ และการรับประทานน้ำตาลฟรุกโตสในปริมาณสูง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการสร้างเซลล์ไขมันและสะสมไขมันเพิ่มขึ้นในช่องท้อง หรืออ้วนลงพุง และสามารถพัฒนากลายเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ เมื่ออ้วนเป็นระยะเวลานานและมีปริมาณการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว
        
เมื่อสะสมไขมันมากขึ้นจนถึงระดับ “น้ำหนักเกิน” คือเริ่มอ้วน เซลล์ไขมันที่ใหญ่ขึ้นจะเริ่มดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ตับอ่อนต้องใช้เซลล์จำนวนมากขึ้นเพื่อหลั่งอินซูลินเพิ่มขึ้นจึงจะพาน้ำตาลผ่านเข้าเซลล์ไขมันได้ หากยังรับประทานอาหารเกินความต้องการต่อไปเซลล์ไขมันยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น จะกลายเป็น “โรคอ้วน” ความดื้อต่ออินซูลินจึงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตับอ่อนปกติยังมีเซลล์เพียงพอที่สร้างอินซูลินเพิ่มได้จนเต็มที่เพื่อสู้กับความดื้อของผนังเซลล์ไขมันได้ และหากยังคงรับประทานอาหารเกินความต้องการอีกต่อไป เซลล์ไขมันจะยิ่งเพิ่มขนาดมากขึ้น     ยิ่งทำให้ดื้อต่ออินซูลินมากขึ้น แต่ตับอ่อนไม่มีเซลล์สำรองอีกแล้ว และอาจมีน้อยลงจากการสึกหรอและการตายของเซลล์ นั่นคือเป็น “โรคเบาหวาน”
        ฟรุกโตสส่วนใหญ่พบในผลไม้ (ยิ่งหวานมาก ยิ่งมีฟรุกโตสมาก) เครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม รวมทั้งน้ำตาลทรายซึ่งมีฟรุกโตสถึง ร้อยละ 50 และกลูโคส ร้อยละ 50 ดังนั้นควรมีการจำกัดสัดส่วนการบริโภคผลไม้และเครื่องดื่มน้ำอัดลมเพื่อควบคุมไม่ให้มีน้ำตาลฟลุกโตสเหลือใช้ในร่างกาย

       2. เสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2
       กลไกของร่างกายเมื่อได้รับน้ำตาลมากเกินไป โดยเฉพาะน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (น้ำตาลทราย น้ำผึ้ง น้ำตาลในผลไม้ น้ำตาลในนม) น้ำตาลจะเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เลือดมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง  ทำให้เลือดมีสภาวะเป็นกรดมากเกินไป ร่างกายเกิดภาวะที่ไม่สมดุล จึงมีการดึงแร่ธาตุจากส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกายมาแก้ไขความไม่สมดุล ร่างกายพยายามรักษาสมดุลไว้โดยการที่ “เร่งตับอ่อนให้ผลิตฮอร์โมนอินซูลินเพื่อที่จะได้เปลี่ยนระดับน้ำตาลให้เป็นไกลโคเจนและไขมัน” เพื่อให้ร่างกายได้ใช้เมื่อต้องการ แต่การที่ตับอ่อนทำงานหนักเป็นเวลานาน ทำให้ตับอ่อนล้าหรือเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินได้ และผลที่ตามมาคือ เกิดโรคเบาหวาน
       ตามปกติน้ำตาลไม่สามารถผ่านเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายได้เอง ต้องอาศัยฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อน คือ อินซูลิน ทำหน้าที่พาน้ำตาลกลูโคส (ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของหน่วยย่อยที่สุดของสารอาหารกลุ่มข้าวแป้ง) ผ่านผนังเซลล์ โดยเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นเบาหวานชนิดที่เซลล์ของร่างกาย โดยเฉพาะเซลล์ไขมันดื้อต่ออินซูลิน ไม่ยอมให้อินซูลินนำพาน้ำตาลกลูโคสในเลือด (ซึ่งได้จากการรับประทนอาหาร) ผ่านผนังเซลล์เข้าสู่เซลล์ได้ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ดังนั้นหากมีการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการดำเนินชีวิตอย่างสม่ำเสมอก็จะควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติได้

      3. เสี่ยงภาวะไขมันพอกตับ
      การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาล โดยเฉพาะน้ำตาลฟรุกโทส หรือน้ำเชื่อมฟรุกโทสมากเกินไป เมื่อเข้าไปในกระแสเลือดจะถูกนำไปสะสมที่ตับโดยตรง หากรับประทานในปริมาณมากก็จะทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ และสามารถพัฒนาเป็นภาวะตับแข็ง นำไปสู่มะเร็งตับได้

      4. เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
      การรับประทานน้ำตาลมากเกินไป เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สําคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery disease) และโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มักมีโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองร่วมด้วย ได้แก่ โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดผิดปกติ ดังนั้นการควบคุมระดับนํ้าตาลให้ได้ตามเป้าหมาย รวมกับการป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ จากเบาหวาน จะทำให้เกิดหลอดเลือดสมองลดลง รวมทั้งช่วยลดความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมองได้

       5. เสี่ยงมะเร็ง
       น้ำตาลเป็นสารอาหารจำเป็นที่ร่างกายขาดไม่ได้ เพราะเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายต้องใช้น้ำตาลกลูโคส (glucose) เป็นสารให้พลังงาน แต่เราจะต้องได้น้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดอย่างช้า ๆ เพื่อให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดไม่สูงเกินกว่า 100 mg% แต่หากการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป หรือเกินกว่า100 mg% จะทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระบบประสาทเกิดการอักเสบและเสื่อมสภาพในการทำงาน ระบบหลอดเลือดเกิดการอักเสบและเกิดการแข็งตัว เกิดอนุมูลอิสระขึ้นเป็นจำนวนมาก เลือดมีสภาวะเป็นกรด ภูมิคุ้มกันโรคต่ำลงอย่างมาก ยิ่งระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากเท่าไร ภูมิคุ้มกันโรคยิ่งต่ำ อันเป็นสภาวะที่ส่งเสริมให้เกิดมะเร็งและส่งเสริมให้เซลล์มะเร็งเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

        6. ส่งผลต่อการเรียนรู้และการจดจำ
        การรับประทานน้ำตาลชูโครสมาก ทำให้กรดอะมิโนที่มีชื่อว่า ทริปโตฟาน ถูกเร่งเข้าสู่สมองมากเกินไป ทำให้เสียสมดุลของฮอร์โมนในสมอง ผลที่ตามมาก็คือทำให้เกิดอาการเชื่องชึม เหนื่อย ไม่กระฉับกระเฉง ซึ่งหากเป็นในเด็กจะทำให้เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง และหากเป็นวัยทำงานก็จะทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
        
นอกจากนี้อาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูงทำให้เกิดอาการต่อต้านอินซูลิน เนื่องจากอินซูลิยังมีอีกหน้าที่     ในการช่วยให้ระบบทางเดินโลหิตในสมองทำงานได้ดี และช่วยให้เซลล์สมองดูดซับน้ำตาล ซึ่งเซลล์สมองจำเป็นต้องใช้ในการเรียนรู้และจดจำสิ่งต่าง ๆ ทั้งยังมีส่วนในการสร้างสารเคมีที่คอยส่งสัญญาณให้ผ่านไปทั่วสมองด้วย เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของอินซูลินจนเกิดภาวะต่อต้านอินซูลิน ทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเรื่องการเรียนรู้และการจดจำแย่ลง

        7. การเกิดริ้วรอยและแก่ก่อนวัย
       
การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง รวมทั้งอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่มีสัดส่วนน้ำตาลสูง น้ำตาลจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว และทำให้ระดับน้ำตาลที่บริเวณผิวหนังสูงขึ้นเช่นกัน โดยน้ำตาลบริเวณผิวหนังสามารถจับกับโปรตีนอีลาสตินและคอลลาเจน เกิดเป็นสารประกอบ Advanced glycation end products (AGEs) เมื่อ AGEs สะสมบริเวณผิวหนังมากขึ้นจะส่งผลให้โปรตีนอีลาสตินและคอลลาเจนเสื่อมสภาพ และสะสมอยู่บนผิวหนังส่งผลให้ความยืดหยุ่นของผิวหนังลดลง เกิดการหย่อนคล้อย

 

ที่มา:

ถาวรีย์ ถิละเวช. (2562). น้ำตาลทำให้แก่เร็วจริงหรือไม่. ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นจาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/465/
        น้ำตาล-แก่เร็ว/

พัชญา บุญชยาอนันต์. (2565). Non-nutritive sweeteners: Should be used or not. สืบค้นจาก https://cimjournal.com/confer-update/non-nutritive-sweeteners/

บุญชัย อิศราพิสิษฐ์. (2561). พิชิตโรคร้ายโดยไม่ใช้ยา เล่ม 3. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮาส์.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2563). สุขภาพดี ทำได้ง่าย ๆ แค่ลดหวาน. สืบค้นจาก https://www.gj.mahidol.ac.th/main/knowledge-2/sweet/

โรงพยาบาลกรุงเทพ. (2565). เกิดอะไรขึ้นเมื่อไขมันพอกตับ. สืบค้นจาก https://www.bangkokhospital.com/content/fatty-liver

World Health Organization. (2015). Guideline: Sugars Intake for Adults and Children. Geneva: Guidelines Review Committee.

Rios-Leyvraz, M., & Montez, J. (2022). Health effects of the use of non-sugar sweeteners: a systematic review and meta-analysis. World Health Organization  

TAG
FOLLOW ME
Health & Wellness
Bring Happiness to Your
Good Health and Good Life

บริษัท เวลเนส กรีน ไลฟ์ จำกัด
ช65/4-5 ถ.สวรรค์วิถี ต.ปากน้ำโพ
อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ 60000

Tel : 091-459-6662 หรือ 056-222-662
Facebook : เวลเนส กรีน ช็อป
                 สาขานครสวรรค์
Line ID : @wglgoodlife
e-Mail : wellness.nsn@gmail.com
              info@wellnessgreenlife.co.th
www.wellnessgreenlife.com :  www.wellnessgreenlife.co.th :  www.wellnessgoodlifeshop.com
Copyright © 2021 Wellness Green Life All Rights Reserved.