รู้ทันโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ไม่ว่าวัยใดก็เป็นได้

          โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทางระบบประสาทที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั่วโลก โดยมีการตายเป็นอันดับสองและการพิการเป็นอันดับสามทั่วโลก จากการสำรวจประชากรขององค์กรโรคหลอดเลือดสมองโลกพบว่า “ปี 2563 มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกว่า 80 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5.5 ล้านคน โดย 1 ใน 4 ของผู้ป่วยมีอายุ 25 ปีขึ้นไป” และพบว่า “โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน หรือ acute stroke เป็นสาเหตุการตายเป็นอันดับสองและการพิการเป็นอันดับสามทั่วโลก”สำหรับประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2562 นั้นพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 355,671 ราย (อัตราผู้ป่วย 543 ต่อประชากรแสนคน) มีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวน 34,728 ราย (อัตราตาย 53 ต่อประชากรแสนคน) โดย สถิติประเทศไทยจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตหรือพิการ สูงเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย รองจากโรคเอดส์และอุบัติเหตุ และสูงเป็นอันดับ 2 ในเพศหญิงรองจากโรคเอดส์ (ยงชัย และวรุต, 2565)

         โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke คือ ภาวะสมองขาดเลือดที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ/อุดตันหรือมีเลือดออกในสมอง หรืออาการเส้นเลือดในสมองตีบ ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ ทำให้เซลล์สมองขาดออกซิเจน ส่งผลให้สมองตาย ผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์ทันที การรักษาอย่างรีบด่วนเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะช่วยลดความรุนแรงจากภาวะสมองตาย รวมถึงลดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ป้องกันความพิการและทุพพลภาพที่จะเกิดขึ้น

 

โรคหลอดเลือดสมอง เกิดได้จาก 3 สาเหตุหลักดังนี้

         1. หลอดเลือดในสมองตีบ (Atherosclerosis) เป็นสาเหตุที่เกิดได้ถึง 80% เกิดจากลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นจากผนังหลอดเลือดสมองที่มีคราบไขมันเกาะจนแข็ง ทำให้หลอดเลือดสมองตีบแคบลงจนอุดตัน เกิดการกีดขวางการลำเลียงเลือด

         ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ อายุ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูงจากการทานอาหารที่มีไขมันมาก การสูบบุหรี่ และดื่มสุราในปริมาณมาก ผู้ที่เป็นโรคอ้วน เพราะคนอ้วนจะสัมพันธ์กับการนอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ

         2. หลอดเลือดในสมองอุดตัน (Embolic) เกิดจากลิ่มเลือดที่ก่อตัวในเส้นเลือดนอกสมอง เช่น ที่หัวใจ ลอยตามกระแสเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดเล็ก ๆ ในสมอง

         ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคของลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือภาวะหัวใจโต โรคหลอดเลือดแดงที่คอตีบ สาเหตุอื่น ๆ ที่พบในวัยรุ่น เช่น กีฬาหรืออุบัติเหตุที่มีการบิดหรือสะบัดคอแรง อาจทำให้หลอดเลือดที่คอฉีกขาดได้ มักมีอาการปวดคอมาก อ่อนแรงครึ่งซีก นอกจากนี้ยังพบในกลุ่มที่รับประทานยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง ซึ่งจะมาด้วยอาการชักคล้ายหลอดเลือดแดงอุดตัน

         3. เลือดออกในสมอง (Hemorrhagic) เป็นสาเหตุที่เกิดได้ 20% โดยเลือดที่ไหลออกมาทำให้เกิดแรงกดเบียดต่อเนื้อสมองและทำลายเนื้อสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้ เลือดออกในสมองหากไม่นับรวมอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากการที่มีความเสื่อมสภาพของเส้นเลือดสมอง ทำให้เปราะและแตกได้ง่าย มักเกิดจากการที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหรือมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญอยู่ก่อน เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในหลอดเลือดสูง การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ดังนั้นจึงพบมากขึ้นในกลุ่มประชากรที่อายุมากกว่า 40 ขึ้นไป

 

ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง

         ปัจจัยเสี่ยงมีหลายสาเหตุ แบ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้ และปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้มักมีสาเหตุจากสุขภาพโดยรวมและรูปแบบการดำเนินชีวิต

         1. ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้

           1.1 อายุ เมื่ออายุมากขึ้น หลอดเลือดก็จะเสื่อมตามไปด้วย โดยผิวชั้นในของหลอดเลือดจะหนาและแข็งขึ้นจากการที่มีไขมันและหินปูนมาเกาะ รูที่เลือดไหลผ่านจะแคบลงเรื่อย ๆ

           1.2 เพศ พบว่าเพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าเพศหญิง

           1.3 ภาวะการแข็งตัวของเลือดเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดการจับตัวกันของเม็ดเลือดและมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าคนปกติ

         2. ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้

           2.1 ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงจึงมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้มากกว่าคนปกติ

           2.2 เบาหวาน เป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดแข็งทั่วร่างกาย หากเกิดที่สมองจะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนปกติ 2-3 เท่า

           2.3 ไขมันในเลือดสูง เป็นความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองเช่นเดียวกับโรคหลอดเลือดหัวใจ คือภาวะไขมันสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด ทำให้กีดขวางการลำเลียงเลือด

           2.4 โรคหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือด ถ้าลิ่มเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง ก็จะทำให้สมองขาดเลือดได้

           2.5 การสูบบุหรี่ สารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง และเป็นตัวทำลายผนังหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดแข็งตัว พบว่าการสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียวเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองถึง 3.5%

           2.6 ยาคุมกำเนิด ในผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูง

           2.7 โรคซิฟิลิส เป็นสาเหตุของหลอดเลือดอักเสบและหลอดเลือดแข็ง

           2.8 การขาดการออกกำลังกาย

 

สัญญานเตือนภาวะผิดปกติของโรคหลอดเลือดสมอง

         1. มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน

         2. มีอาการเวียนศีรษะเฉียบพลัน หรือมีการทรงตัวผิดปกติ

         3. ตาข้างใดข้างหนึ่งพร่ามัว มองไม่เห็น มองเห็นภาพซ้อน หรือมีลานสายตาผิดปกติเฉียบพลัน

         4. มีอาการชาหรืออ่อนแรงของแขนขา หรือใบหน้าข้างใดข้างหนึ่ง

         5. พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ หรือไม่สามารถเข้าใจคำพูดของคนอื่น

         อาการเตือนดังกล่าวจะเกิดเป็นระยะเวลาสั้นมาก และอาจคาดไม่ถึงเนื่องจากเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจงดังนั้นค่อนข้างยากที่จะบอกว่าเป็นอาการของหลอดเลือดสมอง แต่อาการเหล่านี้เป็นอาการนำของการเกิดภาวะของหลอดเลือดผิดปกติในสมอง เพราะอาการเตือนแสดงถึงเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอชั่วคราว ควรรีบมาพบแพทย์ถึงแม้ว่าอาการเหล่านั้นจะหายได้เองเป็นปกติ

 

การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง

         ในปัจจุบันมีวิธีการตรวจวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพและสามารถบ่งชี้ถึงตำแหน่งของสมองและหลอดเลือดที่ผิดปกติ รวมถึงภาวะและสาเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ เช่น

         1. การตรวจเลือดเพื่อดูความเข้มข้นและความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด

         2. การตรวจระดับน้ำตาลและระดับไขมันในเลือด

         3. การตรวจหาการอักเสบของหลอดเลือด

         4. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiogram) เพื่อดูจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ

         5. การตรวจสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computerized tomography) เพื่อดูว่าสมองมีภาวะขาดเลือดหรือภาวะเลือดออกในสมองหรือไม่

         6. การตรวจอัลตราซาวนด์หลอดเลือดบริเวณคอ (carotid duplex scan) เพื่อดูขนาดและการไหลเวียนของหลอดเลือดแดงบริเวณคอที่ไปเลี้ยงสมองด้วยคลื่นความถี่สูง

         7. การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging) เพื่อดูเนื้อสมอง หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดที่คอ เป็นวิธีการที่ไม่เจ็บปวดและมีประสิทธิภาพสูง

 

การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

         โรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งมีแนวทางดังนี้

         1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และควบคุมให้สมดุล หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม รสหวาน รวมทั้งอาหารที่มีคลอเรสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวสูง

         2. รับประทานผลไม้และผักให้มากยิ่งขึ้น เน้นรับประทานผักผลไม้หลากหลายชนิด และไม่รับประทานผลไม้รสหวานในปริมาณมากเกินไป

         3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

         4. งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด

         5. หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางกลุ่มที่มีโอกาสทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดสมองผิดปกติ เช่น ยากระตุ้นให้กระปรี้กระเปร่า ยาที่ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว ยาคุมกำเนิด หรือวิตามินบางชนิด

         6. ควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือด เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต หรือภาวะโภชนาการเกิน

         7. ควรรับการตรวจรักษาต่อเนื่องกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังนี้

             - ตรวจวัดระดับไขมันในเลือดอย่างน้อยทุก 6-12 เดือน หากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง หรือมีภาวะไขมันสูงอยู่แล้ว

            - ควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยความดันโลหิตที่เหมาะสม คือ ต่ำกว่า 140/90 mmHg

            - ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสม คือ ต่ำกว่า 125 mg%

            - กรณีเป็นโรคหัวใจ ควรรับการรักษาโรคหัวใจอย่างต่อเนื่อง

 

         สำหรับการบำบัดกลุ่มโรค NCDs ในผู้ป่วยที่มีภาวะโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ด้วยหลักการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตให้เป็นไปตามหลักธรรมชาติ ของนายแพทย์บุญชัย อิศราพิสิษฐ์ จะมีส่วนช่วยให้สมองได้รับเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น ได้รับสารอาหารที่สมองต้องการมากขึ้น ลดของเสียที่คั่งค้างในสมองลง แต่ก็ยังคงต้องได้รับยาแผนปัจจุบันในการควบคุมอาการตามแพทย์สั่ง โดยมีวิธีการบำบัด ดังนี้

         1. การละวางความเครียด ทำจิตใจให้แจ่มใสเบิกบาน จะช่วยชะลอความ เสื่อมของสมอง และช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้น

         2. การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอประมาณ 6 - 8 ชั่วโมง ในกรณีมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ อาจใช้ BC SIYA ช่วยให้นอนหลับสนิทเป็นช่วงเวลานานขึ้น

         3. Ginkgo Biloba เป็นสารสกัดใบแปะก๊วยที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมของเชลล์สมองทำให้เลือดไหลเวียนผ่านไปเลี้ยงหลอดเลือดฝอยในสมองดีขึ้น และยังช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงปลายมือปลายเท้า ลดอาการชาจากการขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้ระบบความจำของสมองดีขึ้น

         4. Lecithin เป็นสารที่สำคัญในการใช้สร้างเส้นใยประสาทและเซลล์สมอง ช่วยให้การซ่อมแซมสมองเกิดขึ้นได้รวดเร็ว ช่วยเพิ่มความจำระยะสั้นที่ลดลงในผู้สูงอายุ ช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลในลำไส้ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลรวมใน

         5. Vitamin C แบu Time Release ช่วยทำให้หลอดเลือดฝอยในสมองที่แข็งกรอบ ยืดหยุ่นจากการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในผนังหลอดเลือด ช่วยทำให้เลือดไหลผ่านหลอดเลือดฝอยไปเลี้ยงสมองดีขึ้น และยังป้องกันหลอดเลือดในสมองแตกอีกด้วย

         6. CVO ช่วยในการเพิ่มไขมันดี HDL-C และลดไขมันร้าย 2 ชนิด คือ Tri และ LDL-C ช่วยสลายไขมันที่เกาะหลอดเลือดในสมอง ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงได้สะดวกขึ้น และยังช่วยทำให้หัวใจแข็งแรงสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายและสมองเพิ่มขึ้น

         กล่าวได้ว่า โรคหลอดเลือดสมองแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มที่สมองขาดเลือด กับกลุ่มที่มีเลือดออกในสมอง เราพบได้ตั้งแต่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น ไปจนถึงผู้สูงอายุ สาเหตุรูปแบบของการผิดปกติ มันมีความแตกต่างกันหลายรูปแบบ โดยในกลุ่มคนอายุน้อย อาจเป็นลักษณะของความผิดปกติแต่กำเนิด เป็นความผิดปกติของระดับพันธุกรรมที่ให้หลอดเลือดในสมองผิดปกติเกิดเป็นปาน เกิดมีการต่อกันของหลอดเลือดผิดปกติ ในวัยกลางคนมักเกิดจากการใช้ชีวิต สูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนใหญ่สาเหตุหลักจะมาจากการสูบบุหรี่ นอกนั้นก็จะเป็นเรื่องของสารเคมีที่ใช้หรือยาที่ใช้ ยาบางอย่างก็ทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น มีการอุดตัน หรือมีการอักเสบของหลอดเลือดได้ ส่วนในผู้สูงอายุจะเป็นลักษณะของความเสื่อม นั่นคือผนังหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นไป หรือมีภาวะของโรค เช่น เบาหวาน ความดัน โรคเลือด ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดในวัยกลางคน และวัยผู้สูงอายุ ดังนั้นการรู้เท่าทันและใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม เพราะ “การป้องกันเป็นการรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่ดีที่สุด”

 

ที่มาข้อมูล

บุญชัย อิศราพิสิษฐ์. (2564). คู่มือบำบัดกลุ่มโรค NCDs ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตให้

           เป็นไปตามหลักธรรมชาติ. อยุธยา: ศูนย์ธรรมชาติบำบัดเวลเนสแคร์.

ยงชัย นิละนนท์ และวรุต สุทธิคนึง. (2565). โรคหลอดเลือดสมอง รู้ทันป้องกันอัมพาต. โรงพยาบาลศิริราช

           ปิยมหาราชการุณย์. สืบค้นจาก http://www.siphhospital.com/th/news/article/share/strokeโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. (2565). โรคหลอดเลือดสมอง. สืบค้นจาก      

               https://www.bumrungrad.com/th/conditions/stroke

ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล. (2565). โรคหลอดเลือดสมองไม่ว่าวัย

           ใดก็เป็นได้. สืบค้นจาก www.bangkokinternationalhospital.com/th/health-articles/disease-treatment/stroke-can-happen-to-anyone-at-any-age

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ. (2565). สถานการณ์และแนวโน้มสุขภาพและการแพทย์ฉุกเฉิน (ระดับโลก

            และประเทศไทย). สืบค้นจาก http://www.niems.go.th/1/UploadAttachFile/2022/EBook/

            414764_20220208161448.pdf

สรยุทธ ชำนาญเวช. (2562). โรคหลอดเลือดสมอง รู้ได้เร็ว รักษาได้ทัน. สาขาประสาทศัลยศาสตร์ 

           ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นจาก

               www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/โรคหลอดเลือดสมอง/

อุดม สุทธิพนไพศาล. (2563). โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke). สืบค้นจาก https://www.medparkhospital.com/content/stroke

TAG
FOLLOW ME
Health & Wellness
Bring Happiness to Your
Good Health and Good Life

บริษัท เวลเนส กรีน ไลฟ์ จำกัด
ช65/4-5 ถ.สวรรค์วิถี ต.ปากน้ำโพ
อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ 60000

Tel : 091-459-6662 หรือ 056-222-662
Facebook : เวลเนส กรีน ช็อป
                 สาขานครสวรรค์
Line ID : @wglgoodlife
e-Mail : wellness.nsn@gmail.com
              info@wellnessgreenlife.co.th
www.wellnessgreenlife.com :  www.wellnessgreenlife.co.th :  www.wellnessgoodlifeshop.com
Copyright © 2021 Wellness Green Life All Rights Reserved.