8 ประโยชน์ดี ๆ ที่ได้จากการ “วิ่ง”

         การมีสุขภาพที่แข็งแรงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีได้นั้น นอกจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตามหลักธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์และสภาพแวดล้อมที่ดีสุขภาพจิต การออกกำลังกายที่เหมาะสม ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญ เพื่อบริหารระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำงานสมบูรณ์อยู่เสมอ อีกทั้งยังช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อและข้อต่อต่าง ๆ ตลอดจนส่งเสริมการลดน้ำหนัก   การออกกำลังกายประเภทหนึ่งที่ทำง่าย ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มาก สามารถทำคนเดียวได้ ก็คือ “การวิ่ง” ซึ่งอาศัยเพียงแค่สถานที่เหมาะสม และอากาศถ่ายเทสะดวก โดยประโยชน์ดี ๆ ที่ได้จากการวิ่ง มีดังนี้

 

         1. ช่วยเสริมข้อต่อและกระดูก

             การวิ่งต้องใช้อวัยวะและระบบต่าง ๆ ของร่างกายช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวและรับน้ำหนัก โดยเฉพาะกล้ามเนื้อและข้อต่อส่วนขา แรงกดจากการวิ่งช่วยเพิ่มการไหลเวียนของน้ำในข้อต่อ อีกทั้งยังทำให้กล้ามเนื้อบริเวณขาแข็งแรง ช่วยพยุงข้อต่อและลดแรงกระแทกของข้อเข่าได้ดีขึ้น (สุรเมศวร์ ศิริจารุวงศ์, 2561) นอกจากนี้ยังช่วยให้กล้ามเนื้อมีขนาดใหญ่และแข็งแรงขึ้น หลอดเลือดฝอยกระจายในกล้ามเนื้อมาก  ทำให้กล้ามเนื้อสามารถรับออกซิเจนได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มความทนทานและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ทำให้ข้อต่อต่าง ๆ มีความคล่องตัว จึงช่วยชะลอการเสื่อมของกระดูก ป้องกันโรคกระดูกพรุน โรคข้ออักเสบ และช่วยให้กระดูกมีความหนาและแข็งแรงขึ้นกว่าเดิม

         2. ช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น

             การวิ่งช่วยกระตุ้นการสร้างทีเซลล์ (T-cell) ให้มีจำนวนมากขึ้นซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกาย และยังช่วยให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น เนื้อเยื่อได้รับออกซิเจนเพียงพอ ส่งผลให้ร่างกายฟื้นฟูสภาพได้เร็วขึ้น  ซึ่งจากรายงานใน The Journal of the American Association Internal Medicine ยังบอกอีกว่า การวิ่งช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง ผู้ที่วิ่งออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง  ต่ำกว่าผู้ที่ออกกำลังกายน้อยหรือไม่ออกกำลังกายเลย ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการเกิดมะเร็ง เช่น การสูบบุหรี่ น้ำหนักตัว หรือสารป้องกันมะเร็งอื่น ๆ (Moore, et al., 2016: 816-825)

         3. ช่วยให้ระบบหัวใจและการไหลเวียนเลือดทำงานได้ดีขึ้น

             การวิ่งทำให้เกิดการเพิ่มอัตราการใช้ออกซิเจน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานมากกว่าปกติ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจมีขนาดใหญ่และแข็งแรงขึ้น สามารถบีบเลือดออกไปเลี้ยงร่างกายได้ครั้งละจำนวนมาก เพิ่มสมรรถภาพในการทำงานของหัวใจ ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ลดระดับไขมันในหลอดเลือด ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดัน และช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือด โดยเฉพาะการเกิดลิ่มเลือดที่หัวใจ

         4. ช่วยให้ปอดแข็งแรง

             การวิ่งทำให้ทรวงอกขยาย กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการหายใจ ได้แก่ กระบังลมและกล้ามเนื้อระหว่างซี่โครงมีความแข็งแรงขึ้น ทำให้ค่าความจุปอด ความยืดหยุ่นของปอดและปริมาณอากาศที่หายใจเข้าหรือออกแต่ละครั้งเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราการหายใจช้าลง ความลึกของการหายใจเพิ่มขึ้น ขบวนการแลกเปลี่ยนก๊าซและการระบายอากาศของปอดมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อต่าง ๆ ของร่างกายและสมองได้ดีขึ้น

         5. ช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อม

             การวิ่งเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการไหลเวียนของเลือด ทำให้ออกซิเจนในเลือดสามารถไปถึงสมองได้มากขึ้น เป็นการกระตุ้นสมองให้ปลดปล่อยปัจจัยทางประสาท ซึ่งมีผลทำให้เซลล์ประสาทในสมองมีการเจริญเติบโตและอยู่รอดได้มากขึ้น เป็นผลทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเสื่อม (Dinoff, Herrmann, Swardfager, & Lanctot, 2017: 1635-1646)

         6. ช่วยให้ระบบเผาผลาญทำงานดีขึ้น

             การวิ่งจะช่วยให้การเผาผลาญสารอาหารในร่างกายเพิ่มขึ้น มีการสลายตัวของไกลโคเจน (Glycogen) ที่ตับและกล้ามเนื้อมากขึ้น ทำให้ร่างกายสามารถสร้างพลังงานให้สมดุลกับพลังงานที่ใช้ไป เพิ่มการถ่ายเทของเสียจากการเผาผลาญซึ่งเป็นการเพิ่มอาหารให้แก่กล้ามเนื้อ และยังส่งผลให้มีการระบายความร้อนจากการระเหยของเหงื่อ ทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลง จากรายงานใน British Journal of Sport Medicine กล่าวว่า การวิ่งเป็นการออกกำลังที่เผาผลาญพลังงานของร่างกายประมาณ 100 กิโลแคลอรี่ต่อไมล์ ผู้ที่วิ่งเป็นประจำสม่ำเสมอจะมีน้ำหนักลดลงประมาณ 0.75 ของน้ำหนักตัวต่อไมล์ (Philips, Joyner, 2019: 854-855)

         7. ช่วยเพิ่มสุขภาพจิตและลดภาวะซึมเศร้า

             การวิ่งเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอมีประโยชน์ต่อจิตใจเพราะร่างกายจะหลั่งสารจากต่อมใต้สมองที่เรียกว่าเอ็นดอร์ฟินส์ (Endorphins) ซึ่งสารตัวนี้ช่วยทำให้ลดอาการซึมเศร้า ลดความวิตกกังวล ทำให้อารมณ์เพลิดเพลิน จิตใจแจ่มใส ไม่เซื่องซึม

         8. ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น

             การวิ่งจะกระตุ้นให้ต่อมหมวกไตหลั่งสารอะดรีนาลีน (Adrenalin) ออกมา ซึ่งสารนี้จะกระตุ้นให้ระบบประสาทอัตโนมัติให้ทำงานได้สมดุลกัน อีกทั้งยังทำให้ความคิด ความจำ ตลอดจนการนอนหลับดีขึ้น    อีกด้วย

 

         แม้ว่าการออกกำลังกายจะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็อาจมีโทษหรือผลเสียสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว  อันได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคไต และโรคข้อ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินว่าสามารวิ่งได้หรือไม่ อย่างไร และความหนักของการวิ่ง อีกทั้งควรปรึกษาแพทย์หากมีอาการใดอาการหนึ่งเกิดขึ้น เช่น แน่นหน้าอกหรือแน่นบริเวณกรามขณะออกกำลังกาย เป็นลมหมดสติหรือหน้ามืดขณะออกกำลังกาย เหนื่อยง่ายแม้จะออกกำลังกายเพียงเล็กน้อย หรือนอนแล้วแน่นหน้าอก บวมหลังเท้า มีโรคข้อเข่าเสื่อมหรือข้ออักเสบ หัวใจเต้นเร็ว นอกจากนี้ในกรณีของผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ผู้ที่สูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่ ผู้ที่เคยมีประวัติบาดเจ็บขณะวิ่ง และนักวิ่งที่ไม่ได้รับ    การฝึกอย่างถูกต้อง ควรปรึกษาแพทย์ด้วยเช่นกัน เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดการบาดเจ็บซ้ำ การอักเสบต่อเนื่องและเรื้อรังได้หากไม่หยุดพักฟื้นร่างกาย อันเป็นสาเหตุให้ต้องหยุดวิ่งเป็นเวลานาน

 

 

ที่มาข้อมูล

สุรเมศวร์ ศิริจารุวงศ์, (2561). 6 เหตุผลดี ๆ ที่ชีวิตนี้ต้องวิ่ง. สืบค้นจาก :   

          https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/6เหตุผลดีๆของการวิ่ง

ศิระ ลิขิตดาราวรรณ, (2564). ผลสำรวจด้านสุขภาพของกลุ่มนักวิ่งในประเทศไทย (วิทยานิพนธ์ปริญญา

          วิทยาศาตรมหาบัณฑิต). วิทยาศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ 

          มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์. สืบค้นจาก : http://libdoc.dpu.ac.th/thesis/Sira.Lik.pdf

อริสรา สุขวัจนี, (2555). การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ. วารสารศรีนครินทรวิโรฒวิจัยและพัฒนา

          สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่ คณะพยาบาลศาตร์, 4(8), 217-218.

Dinoff, A., Hermann, N., Swardfager, W., & Lanctot, K.L. (2017). The effect of acute  

          exercise on blood concentrations of brain-derived neurotrophic factor in  

          healthy adults: A meta-analysis. European Journal of Neuroscience, 46(1),

          1635-1646.

Moore, S.C., et al. (2016). Association of leisure-time physical activity with risk of

          26 types of cancer in 1.44 million adults. The Journal of the American

          Association Internal Medicine, 176(6), 816-825.

Phillips, S. M., & Joyner, M. J. (2019). Out-running ‘bad’ diets: beyond weight loss  

          there is clear evidence of the benefits of physical activity. British Journal of  

          Sport Medicine, 53, 854-855.

TAG
FOLLOW ME
Health & Wellness
Bring Happiness to Your
Good Health and Good Life

บริษัท เวลเนส กรีน ไลฟ์ จำกัด
ช65/4-5 ถ.สวรรค์วิถี ต.ปากน้ำโพ
อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ 60000

Tel : 091-459-6662 หรือ 056-222-662
Facebook : เวลเนส กรีน ช็อป
                 สาขานครสวรรค์
Line ID : @wglgoodlife
e-Mail : wellness.nsn@gmail.com
              info@wellnessgreenlife.co.th
www.wellnessgreenlife.com :  www.wellnessgreenlife.co.th :  www.wellnessgoodlifeshop.com
Copyright © 2021 Wellness Green Life All Rights Reserved.