ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยหรือซาร์โคพีเนีย (Sarcopenia) ผู้สูงวัยต้องระวัง

         ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2565 โดยมีจำนวนผู้สูงอายุราวร้อยละ 20-30 ซึ่งตามมาด้วยปัญหาสุขภาพ โรคความเสื่อมต่าง ๆ หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และที่พบมากในผู้สูงอายุอีกปัญหาหนึ่งคือ ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย หรือซาร์โคพีเนีย (Sarcopenia) เป็นการสูญเสียมวลของกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งถือเป็นกลุ่มอาการของผู้สูงอายุ (Geriatric Syndrome) ที่พบบ่อยถึง 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุทั่วไป

 

         โดยทั่วไปคนเราจะมีมวลกล้ามเนื้อสูงสุด (Peak Muscle Mass) ที่ช่วงอายุ 3040 ปี หลังจากอายุ 40 ปี มวลกล้ามเนื้อก็จะเริ่มลดลงร้อยละ 1 - 2 ต่อปี ช่วงแรกอาจจะยังไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง  แต่เมื่อหลังอายุ 5060 ปี ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อก็จะลดลงด้วย ประมาณร้อยละ 1.5 ต่อปี และลดลงเร็วขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น จนเริ่มมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหลังอายุ 65 ปี เนื่องจากสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ อัตราเร็วของการเดินลดลง ทำให้ดูแลตนเองได้น้อยลง เสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ดังนั้นเราจึงควรรู้เท่าทันต่อภาวะดังกล่าว

 

         การหมั่นสังเกตผู้สูงอายุในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ โดยอาการเบื้องต้นสังเกตได้จาก กล้ามเนื้อบริเวณแขนขาของผู้ป่วยจะเล็ก ลีบ และอ่อนแรงลง เนื่องจาก ขาดการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนไม่เพียงพอและสัญญาณอื่น ๆ ที่บ่งชี้ เช่น เดินช้าลง เดินขึ้นบันไดด้วยความลำบาก ลุกนั่งลำบาก ล้มบ่อยเนื่องจากสูญเสียการทรงตัว จึงเพิ่มความเสี่ยงของภาวะกระดูกหัก น้ำหนักลดลง รวมทั้งเหนื่อยง่ายจนจำกัดความสามารถทำกิจกรรมประจำวัน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและอาจเกิดโรคซึมเศร้า นอกจากนี้ค่าบ่งชี้ถึงภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย ได้แก่ มวลกล้ามเนื้อลดลงร่วมกับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง หรือสมรรถภาพทางกายลดลง โดยเครื่องมือที่ใช้ประเมินมวลกล้ามเนื้อ คือ Bioelectrical Impedance Analysis (BIA) เครื่องมือที่ใช้ประเมินความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ คือ การวัดแรงบีบมือ (Hand – Grip Strength) และเครื่องมือที่ใช้ประเมินสมรรถภาพคือ การวัดความเร็วของการเดินปกติ (Gait Speed)

 

         ปัจจุบันไม่มียารักษาโรคนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและพฤติกรรมการดำเนินชีวิตให้เหมาะสม เป็นแนวทางป้องกันและรักษาภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยที่สำคัญดังนี้

         1. ออกกำลังกายชนิดเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Resistive Exercise) อย่างน้อย 23 ครั้งต่อสัปดาห์ ร่วมกับการออกกำลังชนิดเพิ่มความทนทาน (Aerobic Exercise) จะช่วยให้มีการสร้างโปรตีนของกล้ามเนื้อและช่วยให้ไขมันในกล้ามเนื้อลดลง

            การออกกำลังกายชนิดเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Resistive Exercise)  เป็นการออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายในลักษณะต่าง ๆ โดยอาศัยแรงต้านจากน้ำหนักร่างกายเราเอง เช่น ดันพื้น ดึงข้อ ลุกนั่ง เป็นต้น หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าช่วย เช่น ดัมเบล ยางยืด เป็นต้น จะช่วยให้มีมวลกล้ามเนื้อมากขึ้น เกิดการใช้พลังงานและเผาผลาญพลังงานมากขึ้น การออกกำลังกายชนิดนี้ยังช่วยป้องกันภาวะโรคกระดูกพรุน ข้อเข่าเสื่อม และโรคต่าง ๆ (สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนและหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการเกร็งค้าง

            การออกกำลังชนิดเพิ่มความทนทาน (Aerobic Exercise) เป็นการออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจน เป็นตัวช่วยในการเผาผลาญไขมันให้แปรเปลี่ยนไปเป็นพลังงานแก่ร่างกาย เป็นการออกกำลังกายแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่อาศัยความต่อเนื่องของเวลา เน้นความทนทาน (endurance) และใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 25 นาที เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิค

            สำหรับผู้สูงอายุที่สามารถยืนและเดินได้ด้วยตัวเอง ให้พยายามยืนขึ้นแล้วฝึกใช้มือและแขนดันผนังในแนวตั้ง โดยใช้น้ำหนักตัวเป็นแรงกด หากทำเป็นประจำก็สามารถช่วยให้กำลังแขนแข็งแรงขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์พิเศษมาใช้ สำหรับผู้ที่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน (Walker) ให้พยายามใช้มือและแขนพยุงตัวให้ลุกขึ้นเดินด้วยตัวเอง เพื่อให้กล้ามเนื้อเข่า ขา และเท้าได้เคลื่อนไหว เป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อในส่วนอื่น ๆ รวมทั้งมือ แขน หลัง ไหล่ และสะโพกให้เคลื่อนไหวตามไปด้วย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการหกล้ม ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยมากที่สุดในผู้สูงอายุ

         2. การรับประทานโปรตีนให้เพียงพอ โดยเฉพาะอาหารที่มีกรดอะมิโนจำเป็นชนิด ลิวซีนสูง เช่น ถั่วเหลือง เนื้อปลา เป็นต้น หรือเลือกรับประทาน อาหารทดแทนโปรตีนสกัดจากพืชเพื่อป้องกันการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและเพิ่มเส้นใยของกล้ามเนื้อ ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัย พบว่า ผู้สูงอายุที่บริโภคสูตรกรดอะมิโนจำเป็นที่อุดมด้วยลิวซีน ขนาด 3.95 กรัม จากโปรตีนทั้งหมด 11 กรัม ในระยะยาวช่วยเพิ่มการเปลี่ยนแปลงของมวลกล้ามเนื้อความแข็งแรงและความเร็วในการเดินได้เป็นอย่างดี รวมทั้งช่วยฟื้นฟูการตอบสนองของภูมิคุ้มกันได้ (Bursheim, Bui, Tissier, Kobayashi, Ferrando, & Wolfe, 2008: 189 - 195) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยพบว่า โปรตีนจากถั่วสามารถเพิ่มการสร้างกล้ามเนื้อทั้งในวัยเด็กและผู้ใหญ่ โดยรับประทานโปรตีนร่วมกับการออกกำลังกายก็สามารถลดภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยได้ (Naseeb, & Volpe, 2017: 1-20)

         3. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ลดหรืองดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รวมทั้งรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่เป็นสาเหตุภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยอย่างต่อเนื่อง

            การเน้นการป้องกันภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยสำหรับผู้สูงวัยมีความสำคัญมากกว่าการรักษา เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อเริ่มลดลงตั้งแต่อายุ 40 ปี ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการดำเนินชีวิต โดยให้ความสำคัญกับอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นปัจจัยเสี่ยง และออกกำลังกายสม่ำเสมอตั้งแต่แรกเริ่ม คือแนวทางที่ช่วยป้องกันได้อย่างเห็นผล อย่างไรก็ตามการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอในผู้สูงอายุ อาจไม่ทำให้มวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและชัดเจนเหมือนในวัยหนุ่มสาว แต่ก็สามารถชะลอการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและช่วยให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นได้โดยไม่ต้องพึ่งยา

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

Bursheim, E., Bui, Q-UT., Tissier, S, Kobayashi, H., Ferrando, AA., & Wolfe, RR. (2008). Effect of

         amino acid supplementation on muscle mass, strength, and physical function in elderly.

         Clinical Nutrition Edinburgh Scotland, 27: 189195.

Naseeb, MA., & Volpe, SL. (2017). Protein and exercise in the prevention of sarcopenia and

         aging. Nutrition Research (New York, N.Y.), 40: 120.

โรงพยาบาลกรุงเทพฯ. (ม.ป.ป.) ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยในผู้สูงวัย. สืบค้นจาก      

          https://www.bangkokhospital.com/content/muscle-wasting-in-the-elderly

Young happy. (2565.) ซาร์โคพีเนีย (Sarcopenia) โรคมวลกล้ามเนื้อสลาย ผู้สูงวัยต้องระวัง. สืบค้นจาก

          https://www.younghappy.com/blog/health/Sarcopenia-in-seniors

จันทร์ทิพย์ คำแหง และวิภาวี ทูคำมี. (2565.) โปรตีนอาหารเสริมป้องกันภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย. วารสาร

         สมาคมประสาทวิทยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, 17(1): 77-80.

 

TAG
FOLLOW ME
Health & Wellness
Bring Happiness to Your
Good Health and Good Life

บริษัท เวลเนส กรีน ไลฟ์ จำกัด
ช65/4-5 ถ.สวรรค์วิถี ต.ปากน้ำโพ
อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ 60000

Tel : 091-459-6662 หรือ 056-222-662
Facebook : เวลเนส กรีน ช็อป
                 สาขานครสวรรค์
Line ID : @wglgoodlife
e-Mail : wellness.nsn@gmail.com
              info@wellnessgreenlife.co.th
www.wellnessgreenlife.com :  www.wellnessgreenlife.co.th :  www.wellnessgoodlifeshop.com
Copyright © 2021 Wellness Green Life All Rights Reserved.