เตรียมรับมืออย่างไรเมื่อเข้าสู่ “วัยทอง”

        วัยทอง คือ ช่วงวัยที่ร่างกายคนเรามีภาวะฮอร์โมนเพศลดลง โดยเฉพาะผู้หญิงจะลดลงอย่างรวดเร็วมากอาการวัยทองสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย สำหรับผู้หญิงจะเป็นช่วงเวลาหลังจากหมดประจำเดือนไปแล้วประมาณ 1 ปี เมื่อรังไข่หยุดผลิตไข่ ทำให้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิงที่มีชื่อว่า “เอสโตรเจน (Estrogen)” และ “โปรเจสเทอโรน (Progesterone)” โดยอายุเฉลี่ยผู้หญิงไทยเข้าสู่วัยทองประมาณ 45-55 ปี จึงทำให้เกิดอาการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ส่วนอายุเฉลี่ยผู้ชายวัยทองจะเริ่มในช่วงอายุประมาณ 50-55 ปี ซึ่งเริ่มช้ากว่าผู้หญิงเนื่องจากการลดลงของฮอร์โมนเพศชายนั้น จะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจนและรุนแรงเหมือนอย่างวัยทองในผู้หญิงนั่นเอง

         เมื่อเข้าสู่วัยทองจะมีโรคหลายโรคเกิดมากในวัยนี้ โดยโรคที่มักเกิดกับวัยทองคือ โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคกระดูกพรุน และมะเร็งเต้านม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคล ดังนั้นท่านที่อยู่ในวัยทองจึงควรเรียนรู้เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งการตัดสินใจรับฮอร์โมนทดแทนต่อภาวะดังกล่าว

 

อาการที่เป็นสัญญาณบอกถึงการเข้าสู่วัยทอง

             อาการแสดงของภาวะวัยทอง มีอิทธิพลมาจากการลดลงอย่างรวดเร็วของฮอร์โมนเพศ ซึ่งผู้หญิงจะมีอาการแสดงที่เด่นชัดมากกว่าผู้ชาย โดยอาการที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าวัยทองกำลังมาเยือน ประกอบไปด้วย

         1. ร้อนวูบวาบร่างกาย

             เป็นอาการทางร่างกายที่พบได้บ่อยที่สุดในสตรีวัยทอง เรียกอาการนี้ว่า “Vasomotor Symptom” มักมีอาการร้อนวูบวาบบริเวณลำตัวส่วนบน โดยเฉพาะบริเวณหน้า คอและอก แล้วกระจายไปส่วนล่างหรือส่วนบน อาการมักจะเป็นประมาณ 3-4 นาที รวมทั้งอาจมีอาการเหงื่อออก หนาวสั่น ลำตัวเย็นชื้น วิตกกังวล หรือรู้สึกใจสั่นได้ อาการเหล่านี้ส่วนใหญ่จะคงอยู่ประมาณ 1-2 ปี หลังจากเข้าสู้วัยหมดระดู ซึ่งอาจมีอาการจนถึง 10 ปี หรือมากกว่า ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง ในหญิงบางรายเป็นปัญหาหลักที่ทำให้มาพบแพทย์เพื่อ   ทำการรักษา

         2. อารมณ์แปรปรวนง่ายกว่าปกติ

             มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์รวดเร็ว เครียดง่าย หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย น้อยใจ ควบคุมอารมณ์ยาก บางรายอาจมีอาการซึมเศร้า รู้สึกชีวิตไม่มีความหมาย ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นผลมาจากฮอร์โมนที่ลดลง

       3. ปัญหาการนอนหลับ

             เกิดอาการนอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิทตลอดคืนบ่อยครั้งในวัยทองทั้งผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งเกิดจากความวิตกกังวล ภาวะอารมณ์เปลี่ยนแปลงไป หรืออาจเพราะอาการร้อนวูบวาบ จึงทำให้รู้สึกว่านอนหลับยาก

        4. ปัญหาทางช่องคลอดและระบบปัสสาวะ

             อาการที่พบได้เช่น อาการแห้งบริเวณปากช่องคลอดหรือภายในช่องคลอด การมีสารคัดหลั่งผิดปกติ อาการคัน รวมถึงอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ อาจพบการติดเชื้อในช่องคลอดและทางเดินปัสสาวะร่วมด้วย เป็นปัญหาในระยะยาว นอกจากนี้ยังพบปัญหาความต้องการทางเพศลดลง เนื่องจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน. อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ และบางรายรุนแรงจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ในครอบครัวหรือชีวิตคู่ได้

         5. โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)

             มีสาเหตุจากความแข็งแรงของกระดูกลดลง บางลง กระดูกหักง่าย หากเกิดขึ้นที่ตำแหน่งสำคัญ เช่น กระดูก สะโพก อาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้ โดยปกติฮอร์โมนเอสโตรเจนช่วยในการเสริมสร้างกระดูกและยับยั้งการทำลายของกระดูก ดังนั้นการขาดเอสโตรเจนจึงทำให้กระดูกพรุนได้

         6. ปัญหาเกี่ยวกับสมาธิและความจำ

             มีอาการหลงลืม เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจน มีความสัมพันธ์กับการควบคุมในสมองและสารด้านสื่อประสาท ซึ่งมีผลกระทบต่อสมาธิและความจำ

         7. มีภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน

             การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน มีผลทำให้ระดับไขมันเลว LDL เพิ่มสูงขึ้น ส่วนไขมัน HDL จะลดต่ำลง ทำให้เกิดการสร้างลิ่มเลือดไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดได้มากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้

 

วิธีดูแลตนเองรับมือกับวัยทอง

         วัยทองไม่ใช่โรคภัย แต่เป็นช่วงวัยที่ทุกคนต้องเจอ และอาการทั้งหมดเป็นผลมาจากภาวะร่างกายที่ฮอร์โมนเพศลดลง ดังนั้นการรักษาอาการวัยทองจึงเป็นการ “รักษาตามอาการ” โดยหลักๆ จะสามารถแบ่งประเภทของการรักษาออกได้เป็น 2 รูปแบบ คือ “แบบใช้ฮอร์โมนรักษา” และ “แบบไม่ใช้ฮอร์โมนในการรักษา” โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

     1. การรักษาอาการวัยทองโดยไม่ใช้ฮอร์โมน

         ในขั้นแรกแพทย์จะใช้ “การพูดคุยแนวจิตบำบัด” สำหรับคนไข้ที่มีอาการนอนไม่หลับก่อน เพื่อรับฟังปัญหา และคนไข้ได้ระบายความกังวลใจหรือความเครียดจากภาวะอารมณ์แปรปรวน ภาวะนอนไม่หลับเนื่องจากวัยทอง ซึ่งหากยังไม่ได้ผล ก็จะพิจารณาใช้ “วิตามิน และกรดอะมิโน” เข้าช่วย เพื่อเสริมให้ร่างกายสามารถนอนหลับได้ดีขึ้น ใจเย็นขึ้น และไม่หงุดหงิดง่าย

         ในลำดับต่อมาสำหรับคนไข้ที่มีอาการร้อนวูบวาบ แพทย์จะเลือกพิจารณาใช้ “สมุนไพรที่มีสรรพคุณและมีเลขทะเบียน อย. กำกับอย่างถูกต้อง” โดยรับประทานตามแพทย์สั่งเท่านั้น เพราะมีผลกระทบต่อตับและระบบร่างกายในส่วนอื่น ๆ ควบคู่กับ “การดูแลตนเองด้วยปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตและการรับประทานอาหาร เช่น การออกกำลังกาย การผ่อนคลายความเครียด ด้วยการทำงานอดิเรก นั่งสมาธิ การนวดบำบัด ดนตรีบำบัด หรือการใช้น้ำมันหอมระเหย ฝึกการควบคุมอารมณ์ให้มีความคิดในทางบวก รวมทั้งการทำ Sleep Hygiene จัดสภาพแวดล้อมในการนอนให้ดี เตรียมตัวก่อนเข้านอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ด้วยการงดเล่นโทรศัพท์มือถือ และงดทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อให้สามารถนอนหลับได้ดีขึ้น

         2. การรักษาอาการวัยทองแบบใช้ฮอร์โมน

          โดยทั่วไปแล้วแพทย์มักจะเลือกใช้การรักษาด้วยฮอร์โมนเข้าช่วย ก็ต่อเมื่อคนไข้มีอาการวัยทองรุนแรงและรักษาด้วยวิธีการไม่ใช้ฮอร์โมนประมาณ 2-3 เดือนแล้วแต่ไม่เห็นผล ทั้งนี้ก่อนการใช้ฮอร์โมนก็ต้องทำการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ตรวจเนื้องอก อัลตร้าซาวด์ตรวจช่องท้อง และรังไข่ก่อน เพื่อประเมินโอกาสความเสี่ยงจากการใช้ฮอร์โมน เนื่องจากการใช้ฮอร์โมนที่มากเกินไปอาจเสี่ยงกระตุ้นให้เกิดเนื้องอกหลายชนิดในผู้หญิง รวมทั้งเพิ่มโอกาสเสี่ยงทำให้เกิดเส้นเลือดอุดตันได้ง่ายขึ้นด้วย

          วัยทองเกิดจากการที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไป การดูแลสุขภาพตามหลักธรรมชาติ จะเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตและการรับประทานอาหารเป็นหลัก หากเราเริ่มต้นด้วยการดูแลตัวเองอย่างถูกต้องเหมาะสม และหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี อาการวัยทองจะดีขึ้นได้เองในระยะเวลา 3–5 ปี ดังนั้นเราจึงควรเตรียมความพร้อมทั้งความรู้เกี่ยวกับร่างกาย อาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น และแนวการดูแลตนเอง เพื่อให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถผ่านช่วงวัยทองไปได้อย่างมีความสุข

          อย่างไรก็ตามหากลองปรับพฤติกรรมแล้วไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรง ควรพบแพทย์เพื่อพิจารณาการตรวจเลือดเพิ่มเติมเพื่อแยกปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศ และส่งผลให้มีอาการของวัยทองเร็วหรือรุนแรงมากกว่าที่ควร เช่น การเสียสมดุลของฮอร์โมนไทรอยด์ ฮอร์โมนต่อมหมวกไต ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง การขาดสารอาหารหรือวิตามินบางชนิด รวมทั้งขอคำแนะนำทางเลือกต่าง ๆ ใน การรักษาจากแพทย์

 

สอบถามรายละเอียดโปรแกรมตรวจสุขภาพ บริการ และข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

ร้านเวลเนส กรีน ช็อปสาขานครสวรรค์ เยื้องประตู 12 อุทยานสวรรค์ (หนองสมบูรณ์)

เปิดบริการทุกวันจันทร์ - เสาร์ เวลา 08.00 - 17.00 น. *ปิดทุกวันอาทิตย์*

โทร 056-222662, 062-9262642, 091-4596662

หรือลงทะเบียนเพื่อรับคำปรึกษาฟรี แอดไลน์คลิก https://lin.ee/ujQ6Y1Y Line ID : @wglgoodlife

TAG
FOLLOW ME
Health & Wellness
Bring Happiness to Your
Good Health and Good Life

บริษัท เวลเนส กรีน ไลฟ์ จำกัด
ช65/4-5 ถ.สวรรค์วิถี ต.ปากน้ำโพ
อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ 60000

Tel : 091-459-6662 หรือ 056-222-662
Facebook : เวลเนส กรีน ช็อป
                 สาขานครสวรรค์
Line ID : @wglgoodlife
e-Mail : wellness.nsn@gmail.com
              info@wellnessgreenlife.co.th
www.wellnessgreenlife.com :  www.wellnessgreenlife.co.th :  www.wellnessgoodlifeshop.com
Copyright © 2021 Wellness Green Life All Rights Reserved.