ต่อมลูกหมากโต อาการที่ผู้ชายไม่ควรมองข้าม

  ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์เพศชาย มีขนาดเท่าผลลิ้นจี่อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะและล้อมรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น หน้าที่สำคัญคือ ผลิตของเหลวเป็นตัวหล่อลื่นและนำส่งเชื้ออสุจิในขณะที่มีการหลั่งของน้ำอสุจิออกมา โดยทั่วไปต่อมลูกหมากจะหยุดเจริญเติบโตหลังจากอายุ 20 ปี จนกระทั่งอายุประมาณ 45 ปี จะมีการเพิ่มขนาดขึ้นอีกครั้ง และเป็นจุดเริ่มต้นของโรคต่อมลูกหมากโต (BPH - Benign Prostatic Hyperplasia)

           โรคต่อมลูกหมากโต มักมีความสัมพันธ์กับอายุและเป็นปัญหาสุขภาพที่ผู้ชายไม่ควรมองข้าม โดยทั่วไปผู้ป่วยจะอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป เมื่ออายุมากขึ้นต่อมลูกหมากจะค่อยๆ โตขึ้น ทั้งนี้ไม่ใช่ผู้ชายทุกคนจะมีอาการ บางคนมีอาการน้อยมาก บางคนอาจมีอาการหนักถึงขั้นปัสสาวะไม่ออก โดยชายสูงอายุ 2 ใน 5 คนจะมีอาการถ่ายปัสสาวะผิดปกติ อันเกิดจากต่อมลูกหมากที่อยู่ล้อมรอบท่อปัสสาวะมีขนาดโตขึ้น และไปกดเบียดท่อปัสสาวะให้แคบลง แต่อาการดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพทางเพศ

 

         อาการสำคัญที่พบบ่อยของโรคต่อมลูกหมากโต

       1. ถ่ายปัสสาวะบ่อยตอนกลางดึก หลังจากที่หลับไปแล้วมากกว่า 1 - 2 ครั้ง

       2. ปัสสาวะไม่พุ่ง ไหลช้า หรือไหล ๆ หยุดๆ

       3. เกิดความรู้สึกว่าการขับถ่ายปัสสาวะเป็นเรื่องวุ่นวายในชีวิตประจำวัน

       4. ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ จะต้องรีบเข้าห้องน้ำทันทีที่ปวดปัสสาวะ

       5. ต้องเบ่งหรือรอนานกว่าจะสามารถปัสสาวะออกมาได้

       6. ปัสสาวะไม่สุด และรู้สึกเหลือค้าง

       7. ปัสสาวะบ่อย ห่างกันไม่เกิน 2 ชั่วโมง

 

         ภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นเมื่อละเลยการรักษาที่ถูกต้อง

        1. ปัสสาวะไม่ออกทันที หรือค่อยเป็นค่อยไป

        2. ปัสสาวะเป็นเลือดเนื่องจากต่อมลูกหมากบวม

        3. กระเพาะปัสสาวะครากหรือมีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ไม่สามารถขับปัสสาวะออกได้หมด ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

        4. การทำงานของไตเสื่อมลง และไตวายได้

         อย่างไรก็ตามอาการของความผิดปกติทั้งในต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมากนั้นมีความคล้ายกัน และอาจเป็นไปได้ว่าภาวะต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมากจะเกิดขึ้นในขณะเดียวกันได้ ซึ่งโรคต่อมลูกหมากโตนี้สามารถรักษาได้

 

         สำหรับแนวทางในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต ไม่ได้ดูจากขนาดของต่อมลูกหมากที่โต แต่ดูจากอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยแนะนำแนวทางดังนี้

         1. การใช้เทคโนโลยีใหม่ในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต คือ การรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ (Water Vapor Therapy) ซึ่งมีผลงานวิจัยรองรับว่ามีประสิทธิภาพได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา

ของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 และได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย ในช่วงต้นปี พ.ศ.​ 2564 ซึ่งวิธีนี้เหมาะสมสำหรับ ผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาและไม่ได้รับผลที่น่าพึงพอใจ ผู้ป่วยที่ไม่ต้องการผ่าตัด (Medical Focus, 2565, หน้า 5-7) หรือผู้ป่วยที่ไม่ต้องการรับประทายา เนื่องจากมีผลการศึกษาแบบ population based study โดยนายแพทย์ Robert Siemens และคณะ แห่ง Queen's University ในแคว้น Ontario ของแคนาดา ที่ได้รับการตีพิมพ์ ในวารสาร Journal of Urology ซึ่งเป็นวารสารทางการของ American Urological Association (AUA) ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2021 พบว่า ยาบางกลุ่มที่นิยมใช้ในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต อาจมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (Medical Focus, 2565, หน้า 9)

           2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยการปรับเปลี่ยนปริมาณน้ำดื่มและช่วงเวลาที่ดื่มน้ำ เช่น หากมีอาการปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ควรงดดื่มน้ำก่อนนอน 2-3 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์

           3. การรับประทานสารสกัดธรรมชาติจาก “แครนเบอรี่”

            มีงานวิจัยศึกษาพบว่า แครนเบอรี่ ประกอบด้วยสารพฤกษเคมีชื่อ โปรแอนโธไซยานิดิน (proanthocyanidin หรือที่เรียกว่า “PACs”) สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างกรดฮิปพูริก (Hippuric acid) ซี่งมีฤทธิ์เหมือนยาปฏิชีวนะในทางเดินปัสสาวะ ที่ช่วยยับยั้งหรือกำจัดแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ โดยขัดขวางเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคไม่ให้เกาะติดเซลล์ชั้นในของทางเดินปัสสาวะ จึงสามารถป้องกันและรักษาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (Colletti, Sangiorgio, Martelli, Testai, Arrigo, & Cravotto, 2021, pp. 1-22; Coleman, & Ferreira, 2020, pp. 42-44; เมวิตา วงศ์วิเชียรชัย, 2548, หน้า 62-63)

            ดังนั้นชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจต่อมลูกหมากเป็นประจำทุกปี หมั่นสังเกตความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะของตนเอง และเมื่อมีอาการปัสสาวะผิดปกติให้รีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและรักษาได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด

 

ที่มา

Coleman, C. M., Ferreira, D. (2020). Oligosaccharides and Complex Carbohydrates: A New

         Paradigm for Cranberry Bioactivity. Molecules,25(4), 881;

         https://doi.org/10.3390/molecules25040881.

Colletti, A., Sangiorgio, L., Martelli, A., Testai, L. Arrigo, F.G., & Cravotto. (2021). Highly Active

         Cranberry’s Polyphenolic Fraction: New Advances in Processing and Clinical Applications.

       Nutrients13(8), 2546; https://doi.org/10.3390/nu13082546.

เมวิตา วงศ์วิเชียรชัย. (2548). คู่มือฉลาดใช้ วิตามิน แร่ธาตุ และสมุนไพร. กรุงเทพฯ: รีดเดอร์ส ไดเจสท์

         ประเทศไทย.

สยุมพร เกตุวิทย์ และดวงหทัย เลิศคำ. (มกราคม: 2565). เทคโนโลยีใหม่ในการรักษาโรคต่อมลูกหมากด้วย

         ไอน้ำ. นิตยสาร Medical Focus14(149), 5-7.

TAG
FOLLOW ME
Health & Wellness
Bring Happiness to Your
Good Health and Good Life

บริษัท เวลเนส กรีน ไลฟ์ จำกัด
ช65/4-5 ถ.สวรรค์วิถี ต.ปากน้ำโพ
อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ 60000

Tel : 091-459-6662 หรือ 056-222-662
Facebook : เวลเนส กรีน ช็อป
                 สาขานครสวรรค์
Line ID : @wglgoodlife
e-Mail : wellness.nsn@gmail.com
              info@wellnessgreenlife.co.th
www.wellnessgreenlife.com :  www.wellnessgreenlife.co.th :  www.wellnessgoodlifeshop.com
Copyright © 2021 Wellness Green Life All Rights Reserved.