“ภาวะท้องผูก ปัจจัยเสี่ยง และวิธีปรับพฤติกรรม”

หลายคนคงเคยประสบปัญหาท้องผูกและมักคิดว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การปล่อยให้ท้องผูกติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย โดยสภาวะท้องผูกอย่างต่อเนื่องอาจพัฒนากลายเป็นโรคต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นอันตรายและมีส่วนอย่างมากต่อการเกิดโรคมะเร็ง ปัจจุบันมะเร็งที่เป็นกันมากคือ มะเร็งทางเดินอาหาร เริ่มตั้งแต่ช่องปากจนถึงทวารหนัก

         ท้องผูก หมายถึง การที่ลำไส้ไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระได้ง่ายและสม่ำเสมอ โดยมีความถี่ของการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ร่วมกับอาการใดอาการหนึ่ง ได้แก่ การมีอุจจาระแข็งหรือเม็ดกระสุน ความถี่ในการขับถ่ายอุจจาระลดลงกว่าปกติ ใช้เวลานานในการเบ่งถ่าย มีความเจ็บปวดเวลาเบ่งถ่าย มีเลือดปนออกมากับอุจจาระ หรือหลังถ่ายอุจจาระเรียบร้อยแล้วยังมีความรู้สึกถ่ายไม่หมด

 

         ปัจจัยเสี่ยงของท้องผูก

         1. การรับประทานอาหารที่มีเส้นใยไม่เพียงพอและดื่มน้ำน้อย

             โดยปกติเราควรรับประทานอาหารที่กากหรือเส้นใยประมาณ 20-35 กรัม/วัน รวมทั้งข้าวไม่ขัดสี เพราะกากใยช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ ดังนั้นผู้ที่รับประทานอาหารที่ขาดใยอาหาร หรือดื่มน้ำน้อย อุจจาระจึงแข็งและลำอุจจาระเล็ก ลำไส้จึงบีบตัวลดลงอุจจาระจึงเคลื่อนตัวได้ช้า

         2. การกลั้นอุจจาระ

             ชีวิตที่เร่งรีบในยุคปัจจุบัน บางคนมักกลั้นอุจจาระ เมื่อทำบ่อย ความรู้สึกอยากถ่ายก็จะหายไป ท้องผูกก็จะเข้ามาแทนที่ กลไกของการขับถ่ายก็จะผิดปกติไป ดังนั้นเราควรรับประทานอาหารให้เป็นเวลาและถ่ายในตอนเช้า หลังจากร่างกายได้นอนหลับพักผ่อนมาระยะหนึ่ง

         3. ขาดการออกกำลังกาย

             เมื่อร่างกายไม่ค่อยออกกำลังกาย ระบบเผาผลาญอาหารจึงน้อยลง โดยปกติแล้วลำไส้ของเรามี      การเคลื่อนไหวตามการเคลื่อนไหวของร่างกาย ดังนั้นผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย หรือผู้สูงอายุที่ร่างกายไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว ลำไส้ก็จะนิ่งไม่ขยับส่งผลให้ท้องผูก

         4. ความเครียด

             จากสภาวะแวดล้อมและสังคมที่เป็นยุคแห่งการแข่งขันมากขึ้น คนเราจึงมีความเครียดมากขึ้นตามมา ส่งผลให้การรับประทานอาหาร การนอนหลับพักผ่อนและระบบการขับถ่ายแปรปรวนไปด้วย

         5. ท้องผูกที่มีความผิดปกติของการทำงานของลำไส้และการขับถ่าย (Primary Constipation)

            แบ่งตามลักษณะของการทำงานที่ผิดปกติ ได้แก่ ท้องผูกชนิดที่มีการเคลื่อนไหวตัวของลำไส้ปกติ หรือเรียกกลุ่มนี้ว่า “ลำไส้แปรปรวน” ซึ่งพบได้ประมาณเกือบครึ่งหนึ่ง, ท้องผูกชนิดที่มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการขับถ่าย และท้องผูกชนิดที่ลำไส้มีภาวะเคลื่อนไหวตัวช้ากว่าปกติ ซึ่งพบได้น้อยที่สุด

         6. ท้องผูกที่มีปัจจัยนอกจากการทำงานของลำไส้และการขับถ่าย (Secondary Constipation) ได้แก่

            6.1 การอุดกั้นของทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะเป็นก้อนเนื้อหรือมะเร็งมากด หรือรวมไปถึงการตีบแคบของลำไส้จากพังผืดหรือการผ่าตัด

            6.2 การตั้งครรภ์

            6.3 โรคทางระบบต่อมไร้ท่อต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ

            6.4 ความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย เช่น ภาวะโพแทสเซียมต่ำ ภาวะแคลเซียมสูง

             6.5 การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาระงับปวดกลุ่มที่มีมอร์ฟีน ยารักษาความดันโลหิตบางชนิด (กลุ่มยับยั้งแคลเซียม) ยาต้านปวดเกร็ง ยาต้านซึมเศร้า ยารักษามะเร็งบางชนิด ยาลดกรดหรือยาเคลือบกระเพาะ รวมไปถึงยาบำรุงที่มีธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบ

            6.6 โรคทางระบบประสาท เช่น ภาวะการบาดเจ็บของกระดูกและไขสันหลัง พาร์กินสัน เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก ผู้ป่วยนอนติดเตียง

 

       วิธีการรักษาท้องผูก

         1. การปรับพฤติกรรม

            เราควรให้ความสนใจกับสัญญาณขับถ่ายและให้เวลาที่เพียงพอสำหรับการขับถ่าย โดยสัญญาณกระตุ้นการขับถ่ายจากสมองมักมาช่วงตอนเช้า ลำไส้จะเคลื่อนไหวมากภายหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอาหารเช้า เราจึงควรไปขับถ่ายอุจจาระเมื่อรู้สึกครั้งแรก ไม่ควรกลั้นอุจจาระไว้จนหายปวดหรืออย่ารอจนสัญญาณการขับถ่ายอ่อนลงเพราะจะทำให้ถ่ายไม่ออกและเกิดอาการท้องผูก

         2. การนั่งขับถ่ายในท่านั่งที่เหมาะสม

            ท่านั่งขับถ่ายมีผลอย่างมากต่อการขับถ่ายอุจจาระของคุณ ท่านั่งที่ถูกจะช่วยให้ไส้ตรงทำมุมดีขึ้นต่อการขับถ่าย ช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลและไม่ล้า ท่าที่ควรนั่งขับถ่าย คือ ท่าประเภทนั่งยองหรือ งอเข่า หากใช้ชักโครกแบบนั่ง ก็สามารถปรับเปลี่ยนด้วยการงอเข่าเข้าหาลำตัว หรือหาเก้าอี้เล็ก ๆ มาวางไว้เพื่อช่วยยกขาให้สูงขึ้นก็ได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้อย่านั่งนานกว่า 10 นาที ถ้าลำไส้คุณยังไม่พร้อมให้ลองใหม่อีกครั้ง       ในภายหลัง

       3. การออกกำลังกายเป็นประจำ

             การเคลื่อนไหวของร่างกาย ทำให้การทำงานของลำไส้ดีขึ้น เราจึงควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

         4. การดื่มน้ำเพิ่มขึ้น

            ผู้ที่มีอาการท้องผูกควรดื่มน้ำสะอาดควบคู่ไปกับการรับประทานอาหาร เพื่อช่วยให้ใยอาหารดูดซับน้ำได้ดี ทำให้อุจจาระพองตัว นุ่ม และเบ่งออกได้ง่าย ในแต่ละวันคนเราควรดื่มน้ำสะอาดประมาณ 2 ลิตร

            ในช่วงแรกให้ค่อย ๆ เพิ่มปริมาณในการดื่มน้ำให้มากขึ้น 1-2 แก้วจากปริมาณน้ำที่ดื่มปกติ ดื่มน้ำในตอนเช้าของทุกวัน และอาจเลือกจิบน้ำมะนาวผสมน้ำอุ่นควบคู่ไปด้วยเพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้

 

 

         5. การรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง

             อาหารที่มีปริมาณเส้นใยเพียงพอ (20-35 กรัมต่อวัน) จะช่วยให้อุจจาระมีขนาดใหญ่และนุ่ม โดยพยายามเพิ่มเส้นใยอาหารประเภทที่ละลายได้ง่าย (เส้นใยจากผัก ผลไม้ และข้าวโอ๊ต) ซึ่งดีกว่าประเภทที่ไม่ละลาย (เส้นใยจากเมล็ดธัญพืช)

             อาหารบางชนิดมีคุณสมบัติช่วยระบายโดยธรรมชาติ เช่น ลูกพรุน (ผลพลัมแห้ง) ผลมะเดื่อฝรั่ง กีวี ชะเอมเทศ กากน้ำตาล (Molasses) การโรยเมล็ดเฟล็กซ์กะเทาะเปลือก (Cracked linseeds) ลงในอาหารจะช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่มและขับออกได้ง่าย

             สำหรับผู้ที่ท้องผูกง่ายควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่มีเส้นใยหรือมีน้อย เช่น ไอศกรีม ชีส เนื้อสัตว์ หรืออาหารสำเร็จรูป

         6. การรับประทานสมุนไพรที่มีเส้นใยอาหารหรือไฟเบอร์สูง

             การรับประทานสมุนไพรที่มีเส้นใยอาหารหรือไฟเบอร์สูงเป็นวิธีที่ถือว่าปลอดภัยที่สุด เพราะช่วยการทำงานของระบบลำไส้ เส้นใยอาหารจะดูดน้ำให้อยู่ในลำไส้ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มง่ายต่อการขับถ่าย นอกจากนี้เส้นใยอาหารจะช่วยให้กากอาหารเคลื่อนผ่านลำไส้ใหญ่ได้เร็วขึ้น ทำให้สารก่อมะเร็งมีโอกาสสัมผัสกับผนังลำไส้ได้น้อยลง

         ดังนั้นหากรู้เท่าทันอาการท้องผูกจะช่วยให้เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองได้อย่างถูกวิธี เมื่อปรับพฤติกรรมแล้วไม่ดีขึ้น เราสามารถรับประทานสมุนไพรที่ออกฤทธิ์ระบายอ่อน ๆ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ปลอดภัย เพื่อให้เราสามารถขับถ่ายได้อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อให้ลำไส้สะอาด ไม่เก็บของเสีย เพราะของเสียเมื่อเน่าจะเป็นอาหารของมะเร็ง

TAG
FOLLOW ME
Health & Wellness
Bring Happiness to Your
Good Health and Good Life

บริษัท เวลเนส กรีน ไลฟ์ จำกัด
ช65/4-5 ถ.สวรรค์วิถี ต.ปากน้ำโพ
อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ 60000

Tel : 091-459-6662 หรือ 056-222-662
Facebook : เวลเนส กรีน ช็อป
                 สาขานครสวรรค์
Line ID : @wglgoodlife
e-Mail : wellness.nsn@gmail.com
              info@wellnessgreenlife.co.th
www.wellnessgreenlife.com :  www.wellnessgreenlife.co.th :  www.wellnessgoodlifeshop.com
Copyright © 2021 Wellness Green Life All Rights Reserved.