รู้จักนิ่วในถุงน้ำดี โรคใกล้ตัว

     โรคนิ่วในถุงน้ำดี เป็นโรคในระบบทางเดินอาหารที่สามารถเกิดขึ้นได้และอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตหากไม่รีบรักษา ส่วนใหญ่มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 1-2 เท่า ส่วนใหญ่    มีสาเหตุหลักจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร มีเพียงส่วนน้อยที่เกิดจากพันธุกรรม หากเป็นนิ่วในถุงน้ำดีถึงขั้นอักเสบแล้ว อาจต้องรักษาโดยการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก เราจึงไม่ควรละเลยและหันมาทำความรู้จักกับโรคนี้

        ถุงน้ำดีมีหน้าที่ “เก็บสะสมน้ำดี” ที่ตับสร้างไว้ เพื่อใช้น้ำดีย่อยอาหารประเภทไขมัน โดยในน้ำดีจะประกอบไปด้วยสารคอเลสเตอรอล กรดน้ำดี สารฟอสโฟลิพิด (Phospholipids) และสารอื่น ๆ โดยนิ่วในถุงน้ำดี (Gall Stone) เกิดจากการตกผลึกของหินปูน (แคลเซียม) คอเลสเตอรอลและบิลิรูบินในน้ำดี ที่เกิดมาจากการติดเชื้อของทางเดินน้ำดี และความไม่สมดุลของส่วนประกอบคอเลสเตอรอลกับบิลิรูบินในน้ำดี การตกผลึกของสารเหล่านี้อาจทำให้เกิดเป็นก้อนนิ่วเพียงก้อนเดียว หรือก้อนเล็กจำนวนหลายก้อนก็ได้ และการสะสมของนิ่วกว่า 95 %  มักทำให้เกิดภาวะอักเสบในถุงน้ำดี

 

        ประเภทของก้อนนิ่วที่เกิดในถุงน้ำดี

        นิ่วในถุงน้ำดี ประกอบด้วยสาร 3 ชนิดหลัก ได้แก่ แคลเซียม คอเลสเตอรอล และบิลิรูบิน สามารถแบ่งจากลักษณะและองค์ประกอบของการเกิดนิ่วได้ 2 ประเภท ได้แก่

        1. ชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอล (cholesterol stones) เป็นนิ่วที่เกิดขึ้นจากการจับตัวของคอเลสเตอรอลประมาณ 70% โดยน้ำหนัก เกิดจากการมีคอเลสเตอรอลมากเกินไป ไม่สามารถขับออกมาจากถุงน้ำดีได้หมด      จึงตกตะกอนกลายเป็นก้อนนิ่ว นิ่วชนิดนี้มักพบในผู้ป่วยในประเทศแถบตะวันตกและผู้รับประทานอาหารไขมันสูงเป็นประจำ

        2. ชนิดที่เกิดจากเม็ดสีหรือบิลิรูบิน (pigment stones) ก้อนนิ่วชนิดนี้มีขนาดเล็กกว่าชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอล มักพบในผู้ป่วยโรคตับหรือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเลือด เช่น โรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย

 

        ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดนิ่ว

        1. ความอ้วน คนอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐานจะเกิดนิ่วที่มีคอเลสเตอรอล เนื่องจากการบีบตัวของ  ถุงน้ำดีลดลง

        2. การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายละลายไขมันมากไป ทำให้ตับหลั่งคอเลสเตอรอลออกมามากขึ้น รวมถึงถุงน้ำดีจะบีบตัวลดน้อยลง น้ำดีจึงค้างอยู่ในถุงน้ำดีนานขึ้น โอกาสเกิดการตกตะกอนก็มากขึ้น

        3. พฤติกรรมการรับประทานอาหารไขมันสูง อาหารที่มีไขมันสูงและเส้นใยอาหารต่ำ ทำให้เกิดการสะสมไขมันและคลอเรสเตอรอลในร่างกาย การย่อยไขมันไม่สมบูรณ์ เมื่อสะสมเป็นเวลานานก็จะเกิดอาการนิ่วในถุงน้ำดี

       4. ขาดการออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และช่วยลดการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้ส่วนหนึ่ง ดังนั้นคนที่ขาดการออกกำลังกายจึงมีความเสี่ยงมากกว่าคนที่ออกกำลังกาย

      5. ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง และผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูง ถุงน้ำดีจะมีการบีบตัวน้อย จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้ง่ายขึ้น

        6. การรับประทานยาลดไขมันบางชนิดก็เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้คอเลสเตอรอลในน้ำดีสูง

     7. การได้ฮอร์โมนเอสโตรเจนจากการรับประทานหรือตั้งครรภ์ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในน้ำดีสูง และลดการเคลื่อนตัวของถุงน้ำดี

        8. ผู้ป่วยโรคเลือดบางโรค เช่น ธาลัสซีเมีย โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก จะมีโอกาสเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าคนทั่วไป

        9. พันธุกรรม บิดามารดาที่เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี

 

        อาการของนิ่วในถุงน้ำดี

        อาการในช่วงแรก

        ในช่วงแรกที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี บางคนอาจยังไม่แสดงอาการ หรือมีอาการแต่ไม่ทราบว่าตนเองเป็นนิ่วและตรวจเช็คร่างกาย เมื่อระยะเวลาผ่านไป นิ่วมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือสะสมเพิ่มจำนวนขึ้น จึงเริ่มมีอาการ โดยอาการในช่วงแรกที่ยังไม่รุนแรงมาก มักเกิดขึ้นเป็นระยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากจากรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงจึงไปกระตุ้นให้เกิดอาการบวมตึงในถุงเนื่องจากการคั่งของของเหลว ข้อสังเกตคือ มักมีอาการหลังรับประทานอาหารไขมันสูงหรือช่วงเวลากลางคืน อยู่ 1 - 2 ชั่วโมงก็หาย และในขณะที่มีอาการยังพอขยับตัวได้ ลักษณะอาการที่สังเกตได้มีดังนี้

        - แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อบริเวณเหนือสะดือ มีลมมาก

        - ปวดจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ และอาจปวดร้าวไปบริเวณสะบักขวา

        - อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน คล้ายอาการของอาหารไม่ย่อย ร่วมด้วย

 

        อาการรุนแรง

        โดยทั่วไปหากเริ่มมีอาการแล้วก็มักเป็นต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น เนื่องจากก้อนนิ่วมักไม่ได้สลายไปแต่จะสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้มีโอกาสเกิด “ภาวะถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (Acute Cholecystitis)” ได้ทุกเมื่อ และมีอาการรุนแรงกว่า โดยสามารถสังเกตได้ดังนี้

            - ปวดจุกแน่น ยาวนาน 4 - 6 ชั่วโมงแล้วยังไม่หาย

        - ปวดท้องรุนแรงบริเวณช่วงท้องส่วนบนด้านขวา หรือปวดจุกเสียดรุนแรงบริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา

        - มีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง (เมื่อก้อนนิ่วอุดในท่อน้ำดี)

        - ปัสสาวะเหลืองเข้ม หรืออุจจาระสีซีด (เมื่อก้อนนิ่วอุดในท่อน้ำดี)

        - เป็นไข้ มีอาการหนาวสั่น

        - คลื่นไส้ อาเจียน (เมื่อถุงน้ำดีติดเชื้อ)

        ข้อสังเกตคือ ผู้ป่วยแทบจะขยับตัวไม่ได้เลยเนื่องจากมีอาการปวดมาก ดังนั้นหากพบว่ามีอาการดังกล่าวแล้วควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

 

        อาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

        นอกจากอาการอักเสบเฉียบพลันและอาการของผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดีที่พบเป็นประจำแล้ว อาจมีอาการแทรกซ้อนอย่างอื่นซึ่งอันตรายไม่แพ้กัน ได้แก่

        1. ตับและตับอ่อนอักเสบ

           เกิดจากการอุดตันของนิ่วในท่อน้ำดี ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการดีซ่าน และทำให้ตับหรือตับอ่อนเกิดการอักเสบตามมาได้

        2. ลำไส้อุดตัน

           เกิดจากการคั่งของน้ำดี แล้วทะลุไปยังช่องท้องหรือทะลุไปสู่อวัยวะอื่น ทำให้ก้อนนิ่วที่มีขนาดใหญ่ไป   อุดตันบริเวณลำไส้ ซึ่งมักเกิดกับบริเวณที่ลำไส้ตีบแคบ เช่น ileocecal valve เป็นต้น

        3. มะเร็งถุงน้ำดี

           ผู้ป่วยมะเร็งถุงน้ำดีส่วนใหญ่ มีนิ่วในถุงน้ำดีร่วมด้วย ยิ่งถ้าก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งที่ถุงน้ำดีมากขึ้นไปอีก

        4. ติดเชื้อรุนแรง (กรณีผู้ป่วยเบาหวาน)

           ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี ควรได้รับการผ่าตัดโดยเร็ว เพราะถ้าปล่อยให้อักเสบขึ้นมาแล้ว มักจะมีภาวะติดเชื้อที่รุนแรงและเสี่ยงถึงชีวิต

        จะเห็นได้ว่า แม้ยังไม่ได้มีอาการอักเสบเกิดขึ้น แต่การปล่อยให้เป็นนิ่วเป็นระยะเวลาอยู่นาน จะส่งผลให้มีการอักเสบและเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรงตามมา ดังนั้นเราควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากพบอาการข้างต้นควรรีบปรึกษาแพทย์ ที่สำคัญเราสามารถดูแลและป้องกันโรคนี้ได้ด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารมีไขมันสูง โดยเฉพาะของมัน ของทอด ขนมหวาน รับประทานอาหารที่มีเลซิตินสูง รวมทั้งหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ

 

 

 

TAG
FOLLOW ME
Health & Wellness
Bring Happiness to Your
Good Health and Good Life

บริษัท เวลเนส กรีน ไลฟ์ จำกัด
ช65/4-5 ถ.สวรรค์วิถี ต.ปากน้ำโพ
อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ 60000

Tel : 091-459-6662 หรือ 056-222-662
Facebook : เวลเนส กรีน ช็อป
                 สาขานครสวรรค์
Line ID : @wglgoodlife
e-Mail : wellness.nsn@gmail.com
              info@wellnessgreenlife.co.th
www.wellnessgreenlife.com :  www.wellnessgreenlife.co.th :  www.wellnessgoodlifeshop.com
Copyright © 2021 Wellness Green Life All Rights Reserved.