“ภาวะไตเสื่อมก่อให้เกิดอันตรายกับเราอย่างไรบ้าง”

เรื่อง “ภาวะไตเสื่อมก่อให้เกิดอันตรายกับเราอย่างไรบ้าง”

        ภาวะไตเสื่อมในระยะแรกเริ่ม เราจะไม่รู้สึกถึงความผิดปกติแต่อย่างใด แต่จะเริ่มรู้สึกได้เมื่อไตมีการสูญเสียหน่วยกรองของเสีย หรือ "เนฟรอน" (nephron) ไปมากกว่า 70% ดังนั้นหากเราไม่ตรวจสภาพการทำงานของไตเป็นประจำทุกปี เราจะขาดโอกาสค้นพบว่าตัวเองมีภาวะไตเสื่อมในระยะแรกเริ่มไปอย่างน่าเสียดาย ส่งผลให้เกิดอันตรายจากภาวะไตเสื่อมที่พบได้บ่อยดังนี้

        1. ภาวะโปรตีนอัลบูมินในเลือดต่ำจนมีอาการน้ำท่วมปอด

       เมื่อระดับโปรตีนอัลบูมิน (albumin) ในเลือดต่ำกว่า 35mg% แรกเริ่มจะมีอาการบวมที่เท้า หากลดต่อไปอีกจนต่ำกว่า 30mg% จะพบอาการบวมได้ทั่วตัวและใบหน้า ลำตัวอาจจะมีน้ำในช่องท้อง อันตรายสูงสุดคือมีภาวะน้ำท่วมปอด ซึ่งเกิดจากโปรตีนอัลบูมินในเลือดต่ำมากจนน้ำจากเส้นเลือดฝอยในปอดซึมออกจากเส้นเลือดเข้าไปในถุงลมปอดทำให้ผู้ป่วยขาดอากาศจนเสียชีวิตได้

        สาเหตุที่โปรตีนอัลบูมินในเลือดต่ำมีดังต่อไปนี้

            1) ผู้ป่วยไตเสื่อมจะสูญเสียโปรตีนอัลบูมินออกไปกับน้ำปัสสาวะ ทำให้ระดับโปรตีนอัลบูมินในเลือดต่ำลง

ผู้ป่วยสามารถตรวจเช็คความรุนแรงในการสูญเสียโปรตีนอัลบูมินได้จากการตรวจปัสสาวะทางห้องปฏิบัติการ

            2) การรับประทานโปรตีนที่ไม่สมดุล ผู้ป่วยไตเสื่อมอาจเกิดอาการบวมจากการขาดโปรตีน หรือไตเสื่อมเพิ่มมากขึ้นจากการรับประทานโปรตีนมากเกินไป

           3) ตับเสื่อมสภาพจนผลิตโปรตีนอัลบูมินลดลง ผู้ป่วยไตเสื่อมมักจะมีโรคต้นเหตุมาจากหลายโรคด้วยกัน เช่น เบาหวาน ความดัน โลหิตสูง ไขมันอุดตันในเส้นเลือด ไขมันแทรกตับ โรคตับแข็ง โรคต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับลดลง ทำให้การผลิตโปรตีนอัลบูมินจากตับลดลงไปด้วยจึงเป็นผลให้ระดับโปรตีนอัลบูมินในเลือดต่ำกว่าปกติ

      2. ภาวะหัวใจล้มเหลวจากโลหิตจาง

    เมื่อร่างกายมีความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงในเลือดลงจากภาวะไตเสื่อม ร่างกายก็จะปรับตัวให้มีการหมุนเวียนเลือดไปเลี้ยงร่างกายมากขึ้น เพราะต้องให้เซลล์ในเนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ ได้รับออกซิเจนและสารอาหารที่นำพาไปเลี้ยงด้วยเม็ดเลือดแดงมีจำนวนเพียงพอที่จะใช้งาน หากยิ่งภาวะโลหิตจางเกิดรุนแรงมากขึ้นเท่าไร การหมุนเวียนเลือดก็ต้องยิ่งมากขึ้นเท่านั้น เป็นภาระของหัวใจในการสูบฉีดเลือดเพิ่มขึ้น หากภาระหนักเกินไปก็จะเกิดภาวะหัวใจวายทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

 

        3. ภาวะของเสียจากโปรตีนสะสมในเลือดสูง

ผู้ป่วยไตเสื่อมนอกจากจะได้รับอันตรายจากภาวะโปรตีนอัลบูมินในเลือดต่ำ ภาวะโลหิตจางแล้ว ยังได้รับอันตรายจากภาวะที่ของเสียจากโปรตีนสะสมในเลือดสูงอีกด้วย ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยไตเสื่อมทุกคน

        ความเป็นพิษจากของเสียที่ได้จากการย่อยสลายและเผาผลาญโปรตีนจะเกิดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณที่สะสมอยู่ พิษในกลุ่มนี้จะเป็นสารพิษที่มีปริมาณสูงสุด และเกิดโทษกับร่างกายสูงสุดเช่นเดียวกัน หากปริมาณที่สะสมเกินกว่าระดับ 100 mg% ร่างกายจะเข้าสู่ที่เรียกว่า "ยูรีเมีย" (uremia) ซึ่งจะเกิดผลเสียต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ดังต่อไปนี้

           3.1 ระบบทางเดินหายใจ

     เมื่อยูเรียมีปริมาณสูงมากจะทำให้เลือดมีภาวะความเป็นกรดสูง ร่างกายจะหอบหายใจเพื่อแก้ภาวะความเป็นกรด ลมหายใจมีกลิ่นยูเรีย (uremic fetor) มีการอักเสบในปอดและเยื่อหุ้มปอด เกิดภาวะน้ำท่วมปอดจากยูรีเมียได้ นอกจากนั้นภูมิคุ้มกันโรคยังต่ำลงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในปอดมากขึ้น

           3.2 ระบบทางเดินอาหาร

  มีการอักเสบในช่องปากจากการที่เอนไชม์ยูรีเอสเปลี่ยนยูเรียในน้ำลายให้เป็นแอมโมเนีย การรับรู้รสอาหารจะมีรสเฝื่อน อาจเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ อาจมีเลือดออก ท้องผูกสลับกับท้องเดินอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร อาเจียน

           3.3 ระบบโลหิต เกิดภาวะซีดจากไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง และเม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นลงจากภาวะเลือดเป็นกรด มีภาวะเลือดออกง่ายจากการที่เกล็ดเลือดต่ำลง และภาวการณ์ขาดสารอาหารอีกหลายชนิด ทำให้ภาวะซีดและเกล็ดเลือดต่ำรุนแรงมากยิ่งขึ้น

            3.4 ระบบประสาท ผลกระทบจากภาวะยูเรียกับระบบประสาท แบ่งออกเป็น

         ระบบประสาทส่วนกลาง จะทวีความรุนแรงขึ้นตามระดับสารยูเรียที่สะสมในเลือด ตั้งแต่อาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มือสั่น ง่วงซึม ขาดสมาธิ สับสน เพ้อ ชัก หมดสติ

 

        ระบบประสาทส่วนปลาย ระบบประสาทรับความรู้สึก การรับความรู้สึกลดลง มีอาการแสบร้อนปลายเท้าและกดเจ็บตามมาด้วยความรู้สึกชา ในส่วนระบบประสาทสั่งการ กล้ามเนื้อบริเวณต้นแขนและต้นขาอ่อนแรง เหี่ยวลีบ การเดินเปลี่ยนไป เดินเท้าห่าง การทรงตัวไม่ดี กล้ามเนื้อกระตุก เป็นตะคริวในเวลากลางคืน

         การมองเห็น มีอาการตาอักเสบ และระคายเคืองเนื่องจากมีแคลเซียมไปเกาะที่เยื่อบุตา มีการเปลี่ยนแปลงของจอรับภาพ มีการหนาตัวขึ้นทำให้การมองเห็นไม่ดี

         4. ภาวะเสียสมดุลของแร่ธาตุในเลือด

       สาเหตุการเสียชีวิตที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยไตเสื่อม คือ “การเสียสมดุลของแร่ธาตุในเลือด” แต่ส่วนใหญ่เป็นการเสียชีวิตเฉียบพลันของผู้ป่วยไตเสื่อมเกิดจากภาวะหัวใจหยุดเต้น เมื่อเกิดภาวะไตเสื่อมจะทำให้เกิดการเสียสมดุลของระดับแร่ธาตุในเลือด มีทั้งขาดแร่ธาตุและแร่ธาตุเกิน มักเกิดกับแร่ธาตุที่สำคัญในร่างกายได้หลายชนิด  ซึ่งเกิดอันตรายและอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามลำดับความรุนแรงดังนี้

            4.1 ธาตุโพแทสเซียม (potassium)

       เป็นธาตุประจุไฟฟ้าบวก ซึ่งเป็นธาตุที่สำคัญภายในเซลล์ต่าง ๆ ทั้งเชลล์กล้ามเนื้อทั่วร่างกายเซลล์ประสาท ตับ กระดูก เม็ดเลือดแดง และเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ คอยควบคุมแรงดัน และภาวะกรด-ด่างภายในเชลล์ รวมทั้งเกี่ยวข้องกับเมตาโบลิซึม (กระบวนการเผาผลาญอาหาร) ของคาร์โบไฮเดรทและโปรตีนภายในเซลล์ ค่าปกติในเลือดอยู่ที่ระดับ 35-55 mEq/L

         ภาวะโพแทสเซียมสูง (hyperkalemia) สาเหตุพบได้บ่อยในกรณีมีเซลล์แตกทำลายในร่างกายในปริมาณมาก โดยเฉพาะการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง มีภาวะเลือดเป็นกรด ในผู้ป่วยไตเสื่อมพบในกรณีรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมมากเกินไป ในการตรวจวินิจฉัย จะพบระดับโพแทสเซียมในเลือดเกินกว่า      55 mEq/L ในระดับรุนแรงจะพบว่ามีค่าเกิน 7.0 mEq/L

          อาการและอาการแสดง

               - ระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ ท้องเดิน ลำไส้เคลื่อนไหวมาก อาเจียน กล้ามเนื้อหน้าท้องเป็นตะคริว

               - ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เริ่มจากที่ขาก่อนจะมาที่ลำตัว   มีอาการกระตุก รู้สึกชาและซ่า ๆ

             - ระบบหัวใจและหลอดเลือด เริ่มด้วยหัวใจเต้นเร็วมากกว่า 100 ครั้ง/นาที และต่อมาจะเต้นช้าลง และหยุดเต้นในเวลาต่อมา

 

         ภาวะโพแทสเซียมต่ำ (Hypokalemia) สาเหตุพบได้บ่อยในกรณีสูญเสียโพแทสเชียมมากจากภาวะท้องเสีย อาเจียน รับประทานอาหารที่ขาดโพแทสเซียม ภาวะที่เลือดเป็นด่างอย่างแรง ในการตรวจวินิจฉัยจะพบระดับโพแทสเซียมในเลือดมีค่าต่ำกว่า 3.5 mEg/L

         อาการและอาการแสดง

         - ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เปลี้ยและเป็นตะคริว สมองเฉื่อยชา ซึม ง่วงนอน

         - ระบบหัวใจและหลอดเลือด หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ชีพจรเบา ความดันโลหิตต่ำ

         - ระบบหายใจ หายใจตื้น กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง หยุดหายใจได้ในที่สุด

            4.2 ธาตุโซเดียม (sodium)

      เป็นธาตุประจุไฟฟ้าบวก ซึ่งเป็นธาตุที่สำคัญอยู่ในของเหลวภายนอกเซลล์ (ส่วนโพแทสเซียมเป็นธาตุสำคัญในของเหลวภายในเซลล์) มีหน้าที่ควบคุมความเข้มข้นและสมดุลของน้ำในเส้นเลือดและน้ำในระหว่างเซลล์ เป็นตัวนำกลูโคสผ่านเข้าผนังเซลล์ เป็นตัวนำกระแสประสาทสู่เส้นใยกล้ามเนื้อ ค่าปกติในเลือดอยู่ที่ระดับ 135-150 mEq/L

    ภาวะโซเดียมสูง (hypernatremia) สาเหตุเกิดจากได้รับเกลือมากเกินไปสูญเสียน้ำในร่างกายจากไฟลวก สูญเสียน้ำจากปอดด้วยการหอบหายใจ ในการวินิจฉัยจะพบระดับโซเดียมในเลือดมีค่าเกินกว่า 150 mEq/L

     อาการและอาการแสดง

         กระหายน้ำมาก ปากแห้ง ผิวหนังบวม แดงหายใจหอบเหนื่อย ปัสสาวะน้อย กล้ามเนื้ออ่อนแรงความดันสูง หัวใจเต้นเร็ว กระสับกระส่าย ความคิดสับสน ชัก หมดสติ

   ภาวะโซเดียมต่ำ (hyponatremia) สาเหตุเกิดจากการสูญเสียเกลือจากภาวะอาเจียน ท้องเสียเหงื่อออกมาก ได้รับยาขับปัสสาวะมากไป ดื่มน้ำมากเกินไป รับประทานเกลือน้อยเกินไป การตรวจวินิจฉัยจะพบระดับโซเดียมในเลือดมีค่าต่ำกว่า 135 mEq / L ถ้าต่ำกว่า 110 mEq/L จะเพ้อ คลั่ง ชัก หมดสติ

    อาการและอาการแสดง

   เวียนศีรษะ เวลายืนจะเป็นลม ความดันโลหิตท่านั่งและท่ายืนจะมากกว่าท่านอน ชีพจรมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที กล้ามเนื้อกระตุก กระสับกระส่าย เพ้อ เสียชีวิตจากภาวะสมอง บวมน้ำ

 

            4.3 ธาตุคลอไรด์ (chloride)

                    เป็นธาตุประจุไฟฟ้าลบ มีมากที่สุดทั้งในเชลล์และนอกเซลล์ มีหน้าที่รักษาสมดุลของเกลือแร่    ซึ่งมีประจุไฟฟ้าบวกโดยรวมตัวอยู่ในรูปของ “โซเดียมคลอไรด์” “โพแทสเซียมคลอไรด์” “แคลเซียมคลอไรด์”  ทำหน้าที่รักษาสมดุลน้ำและความเข้มข้นของเลือด เป็นส่วนประกอบของกรดในทางเดินอาหาร รักษาสมดุล   กรด-ด่างในร่างกาย ค่าปกติในเลือดอยู่ที่ระดับ 95-110 mEq/L

                    ภาวะคลอไรด์สูง (hyperchloremia) สาเหตุเกิดจากการได้รับเกลือในปริมาณมาก ไตเสื่อมขับเกลือได้น้อยทำให้มีโซเดียมและคลอไรด์คลั่ง ได้ยาที่มีส่วนผสมของคลอไรด์สูง ในการตรวจวินิจฉัยจะพบระดับ. คลอไรด์ในเลือดมีค่าสูงกว่า 110 mEo/L

                    อาการและอาการแสดง

                    กล้ามเนื้ออ่อนแรง กระวนกระวาย หายใจหอบลึก หายใจเร็ว ความดันโลหิตสูง บวมกดบุ๋ม ซึมหมดสติ

                    ภาวะคลอไรด์ต่ำ (hypochloremia) สาเหตุเกิดจากการสูญเสียคลอไรด์มากจากการอาเจียนท้องเสีย ได้รับยาปัสสาวะมาก รับประทานเกลือน้อยเกินไป ดื่มน้ำมากเกินไป ในการวินิจฉัยจะพบระดับคลอไรด์ในเลือดมีค่าต่ำกว่า 95 mEq/L

                    อาการและอาการแสดง

                    หายใจช้า หายใจตื้น กระตุก กระสับกระส่าย ไวต่อสิ่งเร้า เพ้อ หมดสติ

 

            4.4 ธาตุแคลเซียม (calcium)

        เป็นธาตุประจุไฟฟ้าบวก เป็นองค์ประกอบสำคัญในกระดูกและฟัน มีความจำเป็นต่อการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท และการแข็งตัวของเลือด ฮอร์โมนที่ควบคุมระดับของแคลเซียมในเลือดคือ “พาราไทรอยด์ฮอร์โมน” ถ้าแคลเซียมในเลือดสูงจะหลั่งฮอร์โมนน้อย ถ้าแคลเซียมต่ำจะหลั่งฮอร์โมนออกมามากค่าปกติในเลือดอยู่ที่ระดับ 86 - 104 mEq/L

 

         ภาวะแคลเซียมสูง (hypercalcemia) สาเหตุเกิดจากการได้รับแคลเซียมจากอาหารมากไป ได้รับจากยาลดกรดในกระเพาะมากไป ได้รับวิตามินดีช่วยดูดซึมมากไป ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ มีการ   ดูดกลับแคลเซียมจากปัสสาวะและอาหารมากเกินไป ต่อมไทรอยด์เป็นพิษทำให้มีฮอร์โมนแคลชิโตนินสูงเกินไป   ทำให้มีการสลายกระดูกมาก มีฟอสเฟตในเลือดต่ำทำให้แคลเซียมในเลือดสูงขึ้น การสลายกระดูกมากจากการนอนติดเตียงเป็นระยะเวลานาน ได้รับยาสเตียรอยด์มากทำให้ดึงแคลเซียมออกจากกระดูก ในการตรวจวินิจฉัยจะพบระดับแคลเซียมในเลือดมีค่าเกินกว่า 104 mEq/L

           อาการและอาการแสดง

           อาการและอาการแสดงจะขึ้นกับระดับและความรวดเร็วในการเพิ่มระดับ ถ้าค่อย ๆ เพิ่มช้า ๆ จะปรากฎอาการน้อย จะเริ่มแสดงอาการบ้างถ้าระดับเกิน 12 mEq/L และถ้าเกินกว่า 15 mEq/L จะเริ่มพบหัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงขึ้น และเมื่อเกินกว่า 16 mEq/L จะเริ่มมีอาการสับสน ความจำเสื่อม ซึม หมดสติ

          ภาวะแคลเซียมต่ำ (hypocalcemia) สาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมต่ำร่างกายขาดวิตามินดี ไม่ได้รับแสงแดด การมีฟอสฟอรัสในเลือดสูงจะทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดลง ได้รับยาขับปัสสาวะมาก ในการตรวจวินิจฉัยจะพบระดับแคลเซียมในเลือดมีค่าต่ำกว่า 86 mEq/L

            อาการและอาการแสดง

      แคลเซียมต่ำในระยะยาวจะทำให้กระดูกพรุน การต่ำแบบเฉียบพลัน ถ้าต่ำรุนแรงจะเกิดอาการหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ เป็นตะคริวบริเวณกล้ามเนื้อหน้าท้อง ท้องเสีย สมองเลอะเลือน

            4.5 ธาตุฟอสฟอรัส (phosphorus)

      เป็นธาตุที่มีมากเป็นอันดับสี่ในร่างกาย คือรองจาก คาร์บอน ไนโตรเจน และแคลเซียม ส่วนใหญ่สะสมอยู่ที่กระดูก รองลงมาอยู่ภายในเซลล์ มีเพียงเล็กน้อยอยู่ในน้ำเลือด ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของฟอสเฟส ค่าปกติในเลือดอยู่ที่ระดับ 27-47 mEq/L

     ภาวะฟอสฟอรัสสูง (hyperphosphatemia) สาเหตุเกิดมาจากการรับประทานอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ในภาวะไตเสื่อมความสามารถในการขับฟอสฟอรัสลดลง ทำให้เกิดการสะสมฟอสฟอรัสในเลือด ในการตรวจวินิจฉัย จะพบระดับฟอสฟอรัสในเลือดมีค่าเกินกว่า 47 mEg/L

        อาการและอาการแสดง

 

      ทำให้เกิดอาการคันตามผิวหนัง ในระยะยาวจะทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนเพราะจะทำให้เกิดการสลายของแคลเซียมในกระดูกอย่างต่อเนื่อง หากสูงมากแบบเฉียบพลันจะมีผลกระทบต่อหัวใจและหลอดเลือด

       ภาวะฟอสฟอรัสต่ำ (hypophosphatemia) สาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีฟอสฟอรัสต่ำ ลำไส้มีข้อบกพร่องในการดูดซึมฟอสฟอรัส หรือรับประทานสารที่มีฤทธิ์ดักจับฟอสฟอรัส เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต ในการตรวจวินิจฉัยจะพบระดับฟอสฟอรัสในเลือดมีค่าต่ำกว่า 27 mEq/L

        อาการและอาการแสดง

        ไม่ค่อยพบอาการผิดปกติ ยกเว้นมีการลดต่ำลงแบบรวดเร็วและรุนแรง จะพบอาการอ่อนแรง   หัวใจเต้นผิดจังหวะและหยุดหายใจได้

            4.6 ธาตุแมกนีเซียม (magnesium)

       เป็นธาตุที่อยู่ทั้งในเซลล์และนอกเชลล์ ในภาวะสูงหรือต่ำโดยปกติจะ ไม่แสดงอาการใด ๆ ยกเว้นในกรณีสูงมากโดยเฉียบพลันอาจมีการเต้นของหัวใจผิดปกติ โดยค่าปกติในเลือดอยู่ที่ระดับ 14-25 mEq/L

       ภาวะแมกนีเซียมสูง (hypermagnesemia) สาเหตุส่วนใหญ่ พบในผู้ป่วยที่รับประทานยาลดกรดในกระเพาะ หรือยาระบายที่มีส่วนผสมของแมกนีเซียมมากเป็นเวลานาน ในผู้ป่วยที่มีภาวะไตเสื่อมหรือเกิดจากการปนเปื้อนของน้ำที่ใช้ในการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ในการตรวจวินิจฉัยจะพบระดับแมกนีเซียมในเลือด   มีค่าเกินกว่า 225mEq/L

            อาการและอาการแสดง

            ผู้ป่วยจะมีความดันโลหิตต่ำคลื่นไส้อาเจียนท้องอึดเหงื่อออกมากกว่าปกติกล้ามเนื้ออ่อนแรงหัวใจเต้นข้าหัวใจหยุดเต้นได้ในที่สุด

          ภาวะแมกนีเซียมต่ำ (hypomagnesemia) สาเหตุพบได้ในผู้ป่วยที่รับประทานอาหารได้น้อยรับประทานอาหารที่มีธาตุแมกนีเซียมต่ำ มีภาวะท้องเสียเรื้อรัง หรือมีการให้อาหารทางสายยาง แล้วแมกนีเชียมเข้าไปอยู่ในเซลล์เกิดใหม่จำนวนมาก ในการตรวจวินิจฉัยจะพบระดับแมกนีเซียมในเลือดมีค่าต่ำกว่า 14 mEq/L

            อาการและอาการแสดง

 

            เมื่อระดับต่ำมากอาจมีผลทำให้หัวใจ เต้นผิดจังหวะทำให้มีการยับยั้งการทำงานของพาราไทรอยด์ฮอร์โมน

            จากภาวะเสียสมดุลของแร่ธาตุในเลือดที่กล่าวทั้งหมดข้างต้น ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

        5. ภาวะกรด-ด่างเสียสมดุล

            การทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายจะมีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อมีค่าความเป็นกรด-ด่างอยู่ที่ค่า 7.45 (pH 7.45) การควบคุมความเป็นกรด-ด่างอยู่ที่ปริมาณของอนุมูลไฮโดรเจนไอออน (hydrogen ion) H+ และไบคาร์บอเนตไอออน (bicarbonate ion or hydrogen carbonate ion) HCO3- การเกิดภาวะกรดหรือด่างไม่สมดุล เกิดได้หลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับโรคไตเสื่อมที่สำคัญ เกิดจากการเผาผลาญอาหาร

            สาเหตุที่ทำให้เลือดมีภาวะด่างสูง

           เกิดการสูญเสียกรดจากการอาเจียนกรดในกระเพาะอาหารออกมา ได้รับยาขับปัสสาวะทำให้ขับกรดออกมามาก รับประทานยาลดกรดมาก ในการตรวจวินิจฉัย จะพบระดับ HCO3- ในเลือดมีค่าเกินกว่า 30 mEq/Lซึ่งควรได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

          อาการและอาการแสดง

         จะมีอาการหายใจช้า หายใจตื้น หัวใจเต้นเร็ว หากมีภาวะโพแทสเชียมต่ำร่วมด้วย อาจจะมีการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ กล้ามเนื้อเกร็ง กระตุก ชัก

            สาเหตุที่ทำให้เลือดมีภาวะกรดสูง

          เกิดจากการเผาผลาญอาหารในกลุ่มโปรตีนมากเพราะอินซูลินในเลือดต่ำจากภาวะเบาหวาน หรือจาก  การอดอาหารทำให้ร่างกายเผาผลาญไขมันเกิดกรดไขมัน และเผาผลาญโปรตีนเกิดกรดอะมิโนทำให้เลือดมีภาวะเป็นกรด ในการตรวจวินิจฉัย จะพบระดับ HCO3- ในเลือดมีค่าต่ำกว่า 20 mEq/L ซึ่งควรได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

            อาการและอาการแสดง

 

          หายใจเร็วและหายใจลึกเพื่อขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาให้มากที่สุด หัวใจเต้นแรงและเร็วจากภาวะโพแทสเซียมสูงร่วมด้วย หากมีความรุนแรงมากหัวใจอาจหยุดเต้นได้ กล้ามเนื้ออ่อนแรง มึนงง สับสน หมดสติในเวลาต่อมา

        ดังนั้น ผู้ป่วยควรมีความรู้เพียงพอที่จะดูแลชีวิตความเป็นอยู่ให้ไตไม่เสื่อมสภาพ ที่สำคัญมีความรู้ที่จะทราบว่าอาการและอาการแสดงอะไรที่ต้องมาพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ทำการช่วยเหลือได้ ความรู้นี้แม้เป็นเรื่องยากมาก แต่แนะนำให้อ่านหลายๆ ครั้ง พร้อมนำผลการตรวจเลือดที่ได้รับจากแพทย์มาอ่านประกอบ เราจะเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้น จนกระทั่งในที่สุดเราจะมีความรู้มากกว่าผู้ป่วยไตเสื่อมคนอื่น ๆ และมีความรู้มากจนสามารถหลุดพ้นจากการฟอกเลือดในอนาคตได้...

TAG
FOLLOW ME
Health & Wellness
Bring Happiness to Your
Good Health and Good Life

บริษัท เวลเนส กรีน ไลฟ์ จำกัด
ช65/4-5 ถ.สวรรค์วิถี ต.ปากน้ำโพ
อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ 60000

Tel : 091-459-6662 หรือ 056-222-662
Facebook : เวลเนส กรีน ช็อป
                 สาขานครสวรรค์
Line ID : @wglgoodlife
e-Mail : wellness.nsn@gmail.com
              info@wellnessgreenlife.co.th
www.wellnessgreenlife.com :  www.wellnessgreenlife.co.th :  www.wellnessgoodlifeshop.com
Copyright © 2021 Wellness Green Life All Rights Reserved.