แอสตาแซนธิน (Astaxanthin) ที่สุดของสารต้านอนุมูลอิสระ

  แอสตาแซนธิน (Astaxanthin) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มของแคโรทีนอยด์ มีลักษณะเป็นสารสีแดงที่ละลายได้ดีในไขมัน ร่างกายสร้างเองไม่ได้ต้องได้รับจากแหล่งอาหารสีแดง เช่น เนื้อปลาแซลมอน เคย (Krill) กุ้ง เปลือกปู เปลือกกุ้งมังกร และพบมากสุดในสาหร่ายสีแดง ด้วยสูตรโครงสร้างที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษ จึงมีความสามารถในการปกป้องเยื่อหุ้มเซลล์ได้ทั้งภายในและภายนอกได้ทุกส่วนทั่วร่างกาย มี “ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบสูงที่สุด” จึงทำให้มีคุณลักษณะที่เหนือกว่าสารต้านอนุมูลอิสระชนิดอื่น ๆ หลายคนจึงเรียกว่าเป็น “Nature's Most Powerful Antioxidant” หรือ “ที่สุดของสารต้านอนุมูลอิสระ” หรือ “ราชาแห่งแคโรทีนอยด์”
       แอสตาแซนธิน จึงเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดชนิดหนึ่งที่พบในธรรมชาติ มีบทบาทสำคัญใน “การปกป้องเซลล์จากการทำลายของอนุมูลอิสระ ช่วยฟื้นฟูและชะลอการเสื่อมของเซลล์ ส่งเสริมการเพิ่มจำนวนของเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดได้รับมาภายหลัง รวมทั้งช่วยเพิ่มการผลิตแอนติบอดี้และไซโตไคน์ ที่ช่วยรักษาการอักเสบ การติดเชื้อ และสร้างภูมิคุ้มกัน (Immune System) ให้แก่ร่างกาย” ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีแอสตาแซนธิน หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จึงไม่เพียงช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกัน แต่ยังช่วยเสริมสร้างการทำงานของร่างกายโดยรวมอีกด้วย ในปี ค.ศ. 1999 องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับรอง Astaxanthin เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และได้รับรางวัล GRAS (generally recognized as safe) จากประเทศญี่ปุ่นให้เป็น “สารที่มีความปลอดภัยสูง” ในการใช้ (ฑิภาดา สามสีทอง, 2561: 1)
       ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่พบในท้องตลาดมีทั้ง Astaxanthin ชนิดเดี่ยว และแบบผสมสารอื่น ๆ เช่น วิตามินชี วิตามินอี น้ำมันปลา ฟอสโฟลิพิด (Phospholipid) และสมุนไพรชนิดอื่น ๆ โดยผลิตภัณฑ์ Astaxanthin ส่วนมากได้จากสาหร่ายสีแดง H. pluvialis มีคุณสมบัติละลายไขมันได้ดี ผลิตภัณฑ์อยู่ในรูปแบบยาเม็ด จากการศึกษาพบว่า Astaxanthin ในสูตรตำรับ Lipid based ช่วยเพิ่มการดูดซึม 3.7 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับสูตรที่มีเฉพาะ Astaxanthin เพียงอย่างเดียว (Mercke Odeberg, Lignell, Pettersson, & Höglund, 2003: 299-304) สำหรับการศึกษาอื่น ๆ พบการใช้ Phospholipid (Phosphatidylcholine) ร่วมก็สามารถเพิ่มการดูดซึมได้เช่นกัน (Shanmugam, S., 2011: 99-105)
       ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของ Astaxanthin
       1. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ
         แอสตาแซนธิน ประกอบด้วยโครงสร้างแกนเป็นพันธะคู่สลับกับพันธะเดี่ยว (Conjugated Double Bond) เรียกว่า Polyene ในตำแหน่งนี้จะมีความสามารถต้านอนุมูลอิสระ โดยยับยั้งอนุมูลอิสระที่เกิดจาก ออกซิเจนซิงเกล็ท (Singlet Oxygen Quenching) อยู่ใน Phospholipid Membrane และส่วนแกนจะเชื่อมต่อกับวงแหวนปิด Ionone ต่อกับหมู่ Hydoxy กับ Keto มีหน้าที่ดักจับอนุมูลอิสระ (Radical Scavenging) ได้ทั้งภายในเซลล์ (Interior of The Phospholipid Membrane) และด้านนอกของ Phospholipid Membrane (surface) ในขณะที่สารต้านอนุมูลอิสระประเภทอื่น เช่น วิตามินซีจะวางตัวอยู่บริเวณภายนอก Phospholipid Membrane ส่วนเบต้าแคโรทีนจะอยู่ภายในชั้นไขมันของ Phospholipid Membrane (Kishimoto, Yoshida, & Kondo, 2016: 1-13) เมื่อศึกษาเปรียบเทียบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระชนิดอื่น ๆ พบว่า Astaxanthin มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าวิตามินซีถึง 6,000 เท่า และสูงกว่าวิตามินอี 100 เท่า เมื่อทดสอบด้วยวิธี Singlet Oxygen Quenching และ Lipid Peroxidation (Nishida, Yamashita, & Miki, 2007: 16-20; Capelli, Bagchi, & Cysewski, 2013: 145-152)
       การศึกษาประสิทธิผลของการใช้ Astaxanthin ในกลุ่มที่มีระดับอนุมูลอิสระสูง หรือเกิดจากกระบวนการ Oxidative Stress เช่น คนสูบบุหรี่ คนอ้วน เป็นต้น สามารถ “ลดระดับดัชนีชี้วัดทางชีวภาพ (Biomarker)” ที่บ่งบอกถึงภาวะอักเสบ เช่น Malondialdehyde (MDA), Isoprostane (ISP) และ “เพิ่มระดับการต้านอนุมูลอิสระ” โดยเพิ่ม Superoxide Dismutase (SOD) และ Total Antioxidant Capacity (TAC) ดังนั้น การใช้ Astaxanthin สามารถป้องกันการเกิด Oxidative Stress ของกลุ่มผู้สูบบุหรี่ และกลุ่มที่มีดัชนีมวลกาย (body mass index : BMI) มากกว่า 25 kg/m2 ได้ (Choi, Kim, Chang, & Kyu-Youn, 2011 : 1813-1818)
       2. ฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน
         ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะไวต่อภาวะ Oxidative Stress จากการศึกษาวิจัย Astaxanthin ต่อระบบ ภูมิคุ้มกันพบว่า ช่วยเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาว Lymphocyte โดย Astaxanthin จะทำการกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งแบบภูมิคุ้มกันแบบพึ่งเซลล์ (Cell-Mediated Immunity) และภูมิคุ้มกันแบบพึ่งแอนติบอดี (Humoral-Mediated Immunity) เพิ่มการผลิต IgG และ IgM กระตุ้นเซลล์ natural killer (NK) ให้ผลิต Interferon- (IFN-) ซึ่งช่วยกระตุ้นการทำงานของ Macrophage, NK cell และการเปลี่ยนแปลงของ B-cell (Jyonouchi, Sun, Tomita, & Gross, 1995: 2483-2492; Jyonouchi, Zhang, & Tomita, 1993: 269-280)
       3. ฤทธิ์ต้านมะเร็ง
         จากการศึกษาวิจัยของเกี่ยวกับแอสตาแซนธินที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง พบสาร Carotenoids บางชนิด, Retinol และ -tocopherol สัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะอาหาร (Chew, Park, Wong, & Wong, 1999: 1849-1853) และผลการวิจัยเปรียบเทียบฤทธิ์ต้านมะเร็งระหว่าง Astaxanthin, Canthaxanthin และ R-carotene โดยพบว่าสารทั้ง 3 ชนิดมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง โดย Astaxanthin สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่บริเวณลำไส้ใหญ่ ต่อมลูกหมาก เต้านม เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นจากฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระผลจากการปรับเปลี่ยนระบบภูมิคุ้มกัน (Tanaka, et. al., 1994: 15-19) ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาทางคลินิกในมนุษย์
       ส่วนประโยชน์ต่อสุขภาพด้านอื่น ๆ เช่น สามารถลดริ้วรอยตื้น ช่วยออกกำลังกายได้ทนขึ้น มองปรับความชัดของสายตาดีขึ้น ช่วยลดอาการล้าของสายตา เป็นต้น
       ปัจจุบันสำนักงานอาหารและยาของประเทศไทยจัดให้แอสตาแซนธิน เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการใช้พืชเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ แอสตาแซนธินในสาหร่ายขนาดเล็กสีแดง และกำหนดให้บริโภคปริมาณแอสตาแซนธิน ไม่เกิน 6 มิลลิกรัมต่อวัน และมีสารละลายตกค้างของอะซีโตนน้อยกว่า 0.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (สำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา, 2560)
ที่มาข้อมูล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. (2560). ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง รายชื่อพืชที่ ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร. ฑิภาดา สามสีทอง. (มิถุนายน, 2561). บทบาทและการออกฤทธิ์ของ Astaxanthin ในทางคลินิก. วงการยา, 18(239): 1-8. Capelli, B., Bagchi, D., Cysewski, G. (2013). Synthetic astaxanthin is significantly inferior to algal-based astaxanthin as an antioxidant and may not be suitable as a human nutraceutical supplement. Nutrafoods, 12: 145-152. Chew, BP., Park, JS., Wong MW, & Wong, TS. (1999). A comparison of the anticancer activities of dietary beta-carotene, canthaxanthin and astaxanthin in mice in vivo. Anticancer Research, 19: 1849-1853. Choi, HD., Kim, JH., Chang, MJ., & Kyu-Youn, Y. (2011). Effects of astaxanthin on oxidative stress in overweight and obese adults. Phytotherapy Research, 25: 1813-1818. Jyonouchi, H., Zhang, L., & Tomita, Y. (1993). Studies of immunomodulating actions of carotenoids. II. Astaxanthin enhances in vitro antibody production to T-dependent antigens without facilitating polyclonal B-cell activation. Nutrition and Cancer, 19: 269-280. Jyonouchi, H., Sun, S., Tomita, Y., & Gross, MD. (1995). Astaxanthin, a carotenoid without Vitamin A activity, augments antibody responses in cultures including T-helper cell clones and suboptimal doses of antigen. The Journal of Nutrition, 125: 2483-2492. Kishimoto, Y., Yoshida, H., & Kondo, K. (2016). Potential anti-atherosclerotic properties of astaxanthin. Marine Drugs, 14: 1-13. Mercke Odeberg, J., Lignell, A., Pettersson, A., & Höglund, P. (2003). Oral bioavailability of the antioxidant astaxanthin in humans is enhanced by incorporation of lipid based formulations. European Journal of Pharmaceutical Sciences, 19(4): 299-304. Nishida, Y., Yamashita, E., & Miki, W. (2007). Quenching activities of common hydrophilic and lipophilic antioxidants against singlet oxygen using chemiluminescence detection system. Carotenoid Science, 11: 16-20. Shanmugam, S., et al. (2011). Enhanced bioavailability and retinal accumulation of lutein from self-emulsifying phospholipid suspension (SEPS). International Journal of Pharmaceutics, 30: 99-105. Tanaka, T., et al. (1994). Chemoprevention of mouse urinary bladder carcinogenesis by the naturally occurring carotenoid astaxanthin. Carcinogenesis, 15: 15-19.

TAG
FOLLOW ME
Health & Wellness
Bring Happiness to Your
Good Health and Good Life

บริษัท เวลเนส กรีน ไลฟ์ จำกัด
ช65/4-5 ถ.สวรรค์วิถี ต.ปากน้ำโพ
อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ 60000

Tel : 091-459-6662 หรือ 056-222-662
Facebook : เวลเนส กรีน ช็อป
                 สาขานครสวรรค์
Line ID : @wglgoodlife
e-Mail : wellness.nsn@gmail.com
              info@wellnessgreenlife.co.th
www.wellnessgreenlife.com :  www.wellnessgreenlife.co.th :  www.wellnessgoodlifeshop.com
Copyright © 2021 Wellness Green Life All Rights Reserved.