สารสกัดจากพลูคาว (Houttuynia cordata extract)

   พลูคาว หรือผักคาวตอง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Houttuynia Cordata Thunb. เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี ขนาดเล็ก ทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ลำต้นตั้งตรง ใบเป็นใบเดี่ยว โคนใบเว้าเข้าหากันคล้ายรูปหัวใจหรือรูปไต ปลายใบเรียวแหลม ดอกสีขาว ออกเป็นช่อ ดอกมีขนาดเล็กมาก ผลมีขนาดเล็กมากที่บริเวณยอด มีเมล็ดขนาดเล็ก เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความชื้น มักพบตามริมแม่น้ำ ลำธาร ป่าไม้ ทุ่งหญ้า ริมทาง พืชชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นได้ตั้งแต่พื้นที่ราบต่ำไปจนถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,500 เมตร ในประเทศไทยพบที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพบมากในภาคเหนือ มีทั้งที่ขึ้นตามธรรมชาติและเพาะปลูก นิยมรับประทานใบสด โดยเฉพาะอาหารเหนือและอีสานใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือทานกับลาบ ปัจจุบันยังนิยมนำมาสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และยารักษาโรคต่าง ๆ
       พลูคาวอุดมด้วยสารอาหารสำคัญ ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินบี ธาตุเหล็ก โปรตีน แคลเซียม จากผลการศึกษาวิจัยทั้งในและต่างประเทศ พบว่าองค์ประกอบทางเคมีของพลูคาวได้แก่ น้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) ประมาณ 0.5% ซึ่งประกอบด้วยสารกลุ่มเทอร์พีน (Terpenes) เช่น แอลฟา-ไพนีน (α-Pinene) แคมฟีน (Camphene) เมอร์ซีน (Myrcene) เจรานิออล (geraniol) แคริโอ ฟีลลีน (Caryophyllene) 3-ออกโซโดเดคานอล (3-Oxododecanal) เป็นต้น สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) เช่น เควอซิทิน (Quercetin) ไอโซเคอร์ซิทริน (Isoquercitrin) รูทิน (Rutin) ไฮเพอริน (Hyperin) และสารกลุ่มแอลคาลอยด์ (alkaloids) เช่น อะริสโทแล็กแทมเอ (Aristolactam A) พิเพอโรแล็กแทมเอ (Piperolactam A) และสารอื่น ๆ เช่น บีตา-ซิโทสเตอรอล (β-Sitosterol) กรดพาลมิติก (Palmitic Acid) กรดโอเลอิก (Oleic Acid)
       เนื่องจากพลูคาวอุดมไปด้วยสารกลุ่มเทอร์พีน (Terpenes) สารกลุ่มแอลคาลอยด์ (Alkaloid) และสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) หลายชนิด จึงมีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งในด้าน “เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดขาว ลดการอักเสบ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ช่วยฟื้นฟูเซลล์ในอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งเซลล์ที่ไต ช่วยในการรักษาโรคติดเชื้อต่าง ๆ มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ สามารถลดภาวะภูมิแพ้ หืดหอบ และความดันโลหิตสูง” (คณะอนุกรรมการจัดทำตำราอ้างอิงสมุนไพรไทย, 2552: 89-92) รวมทั้งยังมีการนำไปใช้ควบคู่กับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี ดังจะเห็นประโยชน์ต่าง ๆ ดังกล่าวสอดคล้องกับผลการวิจัย เช่น
       สารหลักของพลูคาวในกลุ่ม Flavonoid Glycosides อันได้แก่ รูทิน (Rutin) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติ ช่วยต้านการเกิดมะเร็ง ทางการแพทย์ยังใช้เสริมสร้างผนังหลอดเลือดฝอย ป้องกันโรคหลอดเลือดในสมองแตก ส่วนเควอซิทิน (Quercetin) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระบริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถลดอาการเกิดภูมิแพ้ หอบหืด ลดภาวะความดันโลหิตสูง รวมทั้งยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม รังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูก ต่อมลูกหมาก และมะเร็งปอด (Hayashi, Kamiya, & Hayashi, 1995: 237-241)

       สารสกัดพลูคาวช่วยยับยั้งการเติบโตของมะเร็งเม็ดเลือดขาว มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา ต้านเชื้อไวรัสหลายชนิด เช่น เชื้อไวรัส Herpe Simplex ที่ก่อเกิดโรคเริม เชื้อ Influenza Virus ที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดกลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อม ต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus และ Sarcina ureae รวมทั้งช่วยในการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงไตจึงมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ และแก้การอักเสบติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2553; Chang, Chiang, Chen, Liu, Wang, & Lin, 2001: 303-312; Chiang, Chang, Chen, Ng, & Lin, 2003: 355-362; Hayashi, Kamiya, & Hayashi, 1995: 237-241; Lu, Wu, Liang, & Zhang, 2006: 936-940; Park, Kum, Wang, Park, Kim, & Schuller-Levis, 2005: 415-425)
       ในประเทศไทยการผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากพลูคาวนั้นได้รับการควบคุมมาตรฐานและกำหนดกระบวนการผลิตอย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุดของผู้บริโภค กระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดไว้ว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารพลูคาวต้องใช้ “กระบวนการสกัดด้วยการบดผง หรือสกัดด้วยน้ำจากใบพลูคาว” เท่านั้น ดังนั้นผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานดังกล่าวและได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง
แหล่งอ้างอิง คณะอนุกรรมการจัดทำตำราอ้างอิงสมุนไพรไทย. (2552). ตำราอ้างอิงยาสมุนไพรไทย: พลูคาว. วารสาร การแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก, 7(1) : 89-92. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. คลังความรู้ ข้อมูลสมุนไพรไทย. สืบค้นจาก http://ttdkl.dtam.moph.go.th/Module1/frmc_show_plant.aspx?h_id=MTkwNQ== สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. (2553). สมุนไพรน่ารู้ ผักคาวตอง ฉบับปรังปรุงเพิ่มเติม พ.ศ. 2553. กรุงเทพ: โรงพิมพ์สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ. Chang, JS., Chiang, LC., Chen, CC., Liu, LT., Wang KC., & Lin, CC. (2001). Antileukemic activity of Bidens pilosa L. var. minor (Blume) Sherff and Houttuyniacordata Thunb. Am J Chin Med 29:303-312. Chiang, LC., Chang, JS., Chen, CC., Ng, LT., & Lin, CC. (2003). Anti-Herpes simplex virus activity of Bidens pilosa and Houttuynia cordata. Am J Chin Med, 31:355-362. Hayashi, K., Kamiya, M., & Hayashi, T. (1995). Virucidal effects of the steam distillate from Houttuynia Cordata and its components on HSV-1, influenza virus, and HIV. Planta Med, 61:237-241. Lu, H., Wu, X., Liang, Y., & Zhang, J. (2006). Variation in chemical composition and antibacterial Activities of essential oils from two species of Houttuynia Thunb. Chem Pharm Bull (Tokyo), 54:936-940. Matsui, J., Kiyokawa, N., & Takenouchi, H. (2005). Dietary bioflavonoids induce apoptosis in human leukemia cells. Leukemia Research, 29(5): 573-581. Park, E., Kum. S., Wang, C., Park, SY., Kim, BS., & Schuller-Levis, G. (2005). Anti-inflammatory Activity of herbal medicine: inhibition of nitric oxide production and tumor necrosis factor-alpha secretion in an activated macrophage-like cell line. Am J Chin Med, 33: 415-425. Rogerio, A.P., Kanashiro, A., & Fontanari, C. (2007). Anti-inflammatory activity of quercetin and isoquercitrin in experimental murine allergic asthma. Inflammation Research, 56(10): 4028.

TAG
FOLLOW ME
Health & Wellness
Bring Happiness to Your
Good Health and Good Life

บริษัท เวลเนส กรีน ไลฟ์ จำกัด
ช65/4-5 ถ.สวรรค์วิถี ต.ปากน้ำโพ
อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ 60000

Tel : 091-459-6662 หรือ 056-222-662
Facebook : เวลเนส กรีน ช็อป
                 สาขานครสวรรค์
Line ID : @wglgoodlife
e-Mail : wellness.nsn@gmail.com
              info@wellnessgreenlife.co.th
www.wellnessgreenlife.com :  www.wellnessgreenlife.co.th :  www.wellnessgoodlifeshop.com
Copyright © 2021 Wellness Green Life All Rights Reserved.