โสมเอเชีย (Panax Ginseng) กับคุณประโยชน์ทางการแพทย์

 โสม (Ginseng) เป็นราชาสมุนไพรเก่าแก่ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Panax Ginseng” ใช้เป็นยาบำรุงร่างกายในด้านต่าง ๆ มายาวนานกว่า 2,000 ปี ซึ่งโดยทั่วไปเราอาจคุ้นเคยกับโสมเกาหลี หรือโสมจีนกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ตามธรรมชาติยังมีโสมอีกหลายชนิด เช่น โสมไซบีเรีย โสมญี่ปุ่น โสมอเมริกา เป็นต้น โดยสายพันธ์ที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์กันจะมีอยู่ 2 สายพันธ์คือ โสมอเมริกา (Panax Quinquefolius) และโสมเอเชีย (Panax ginseng) ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด แบ่งตามอายุของการนำมาสกัดเป็นสารบำรุงสุขภาพ ได้แก่
       โสมสด มักเก็บเกี่ยวโสมที่มีอายุไม่เกิน 4 ปี
       โสมขาว คือ การนำรากโสมที่มีอายุตั้งแต่ 4-6 ปี มาล้างสะอาดแล้วมาตากแดดหรืออบให้แห้งทันที
       โสมแดง คือ การนำรากโสมที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป มาตัดเฉพาะส่วนที่ดี ๆ มาล้างให้สะอาด แล้วนำมาอบด้วยไอน้ำประมาณ 120-130 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 2-4 ชั่วโมง จนเป็นสีน้ำตาลแดง
       สรรพคุณทางยาในทางการแพทย์แผนโบราณของโสมอเมริกา (Panax Quinquefolius) มีต้นกำเนิดจากทวีปอเมริกาเหนือ ถูกจัดให้เป็นยาเย็นหรือยาที่ช่วยเสริมธาตุ “หยิน” ให้กับร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายอยู่ในภาวะสงบ มีสมาธิ และบำรุงร่างกาย ส่วนโสมเอเชีย (Panax ginseng) มีแหล่งปลูกสำคัญทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เกาหลีใต้ และเกาหลีเหนือ ถูกจัดเป็นยาร้อนหรือยาที่เสริมธาตุ “หยาง” ช่วยเรื่องการบำรุงร่างกายให้มีพลังและมีแรงในร่างกาย (Chen, Chiou & Zhang, 2008) โดยสายพันธุ์เอเชียที่นิยมและมีชื่อเสียงมากที่สุดคือ “โสมเกาหลี”
       โสมเกาหลี มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนตอนเหนือและประเทศเกาหลี จัดเป็นพืชล้มลุกมีอายุหลายปี ลำต้นฉ่ำน้ำ และมีขนาดประมาณ 60-80 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะกลมและตั้งตรง มีรากเก็บสะสมอาหารลักษณะพองโต แยกเป็นง่าม นิยมเก็บรากมาใช้เป็นยา รวมถึงอาหารเสริมได้เมื่ออายุประมาณ 4-6 ปี โดยศาสตร์ทางการแพทย์ของจีนได้นำโสมมาเป็นส่วนผสมหลักเพื่อบำรุงร่างกายหรือรักษาโรค ประกอบด้วยสารธรรมชาติที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาสำคัญคือ จินเซนโนไซด์ (Ginsenosides) หรือพาแน็กโซไซด์ (Panaxosides) และอแดปโตเจน (Adaptogens) ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายดังนี้
       1. เสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย
         ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิต้านทานให้กับร่างกายได้ โดยมีสารอแดปโตเจน (Adaptogens) ช่วยให้เซลล์ทั่วร่างกายสร้างพลังงานเพิ่มขึ้น เป็นผลในการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และสร้างโปรตีนอินเตอร์เลนคิน-วัน (Interlenkin-1) เป็นผลทำให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสและเซลล์มะเร็งได้ดี นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า จินเซ็นโนไซด์ในกลุ่มโครงสร้าง Protopanaxatriol (PPT) มีส่วนช่วยในการกระตุ้นการ ทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาจ (Macrophage) รวมทั้งเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด Natural killer cell และเซลล์เม็ดเลือดขาวขนาดเล็กที่เรียกว่า เซลล์ลิมโฟไซต์ (lymphocyte) ทั้ง B cells และ T cells (Sun, et al., 2007)
       2. ป้องกันการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ
         สารออกฤทธิ์ในโสม อันได้แก่ จินเซนโนไซด์ (Ginsenosides) เปปไทด์ (Peptide) โพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharide) เป็นต้น ล้วนเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและมีประสิทธิภาพในการต้านมะเร็ง โดยมีกลไกการต้านมะเร็งที่สำคัญ ได้แก่ หยุดวงจรชีวิตของเซลล์มะเร็ง ยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่เพื่อไปหล่อเลี้ยงเซลล์มะเร็ง หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งโดยเฉพาะในระยะส่งเสริม (Promotion Phase) และระยะก้าวหน้า (Progression Phase) เป็นต้น นอกจากนี้ในโสมยังมีสารซาโปนิน (Saponin) ที่อาจช่วยลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งและเพิ่มการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด
       3. ช่วยลดเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเลือด
         โดยช่วยให้ต่อมในตับอ่อนหลั่งอินซูลินออกมาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ginsenoside Rb และ ginsenoside Rc ยังออกฤทธิ์คล้ายกับอินซูลิน จึงมีประโยชน์ในการช่วยลดขนาดการใช้อินซูลินจากภายนอกเพื่อรักษาคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานได้ โดยต้องรับประทานโสมวันละ 2.7 กรัม ติดต่อกัน 3 เดือน
       4. บำรุงสมองและประสาท
         สารจินเซนโนไซด์ Rb1 ในโสมจะช่วยส่งเสริมการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง และระบบประสาทส่วนกลางที่ ชื่อว่า อะเซทิลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งส่งผลต่อระบบประสาท Cholinergic ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ และจดจำ ทั้งยังมีส่วนช่วยในการป้องกันเซลล์ประสาทของสมอง ส่วน hippocampus จากภาวะการขาดเลือด (Ischemic) ได้อีกด้วย (Attele, Wu, & Yuan, 1999; Aburaya, et al., 1997; Chen, Chiou, & Zhang, 2008) ส่วนจินเซ็นโนไซด์ Rg1 ส่งผลต่อสารสื่อประสาทซีโรโทนิน (Serotonin) ที่เกี่ยวข้องกับการลดภาวะ ความเครียดเรื้อรังในสมองลดลง ส่งผลให้สมองทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ช่วยคลายกล้ามเนื้อที่ผนังหลอดเลือด ยับยั้งการแข็งตัวของผนังหลอดเลือด ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น จินเซ็นโนไซด์ชนิด Rb1 และ Rg1 ร่วมกันออกฤทธิ์ต่อสมองและสารสื่อประสาท กลูตาเมท (Glutamate) ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้ และจดจำโดยทำให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายข้อมูลระหว่าง เซลล์ประสาทในสมองอย่างเต็มประสิทธิภาพ (Kang, Schini-Kerth, & Kim, 1995; Zhang, Qu, Liu, & Deng, 1990) นอกจากนี้ยังมีวิตามินเค (Vitamin K) ที่ช่วยป้องกันความเสื่อมของสมอง จากการทำงานของสารอนุมูลอิสระ (Oh, & Kim, 2016, pp. 4506-4515)
       5. ชะลอความแก่
         อนุมูลอิสระที่สลายตัวจากออกซิเจนจะเป็นตัวทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ ให้เสื่อมสลายลง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของความแก่ โดยโสมมีฤทธิ์ทำลายอนุมูลอิสระของออกซิเจนที่เกิดจากการเผาผลาญไขมันเพื่อให้ร่างกายเกิดพลังงาน (เรียกว่า Lipid oxidation) จึงช่วยทำให้เนื้อเยื่อเสื่อมช้าลง
       6. ช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรง
         สารสกัดจากโสมมีฤทธิ์ช่วยปรับสมดุลต่าง ๆ ของร่างกายหรืออแดปโตเจน (Adaptogen) ช่วยเสริม สมรรถภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ สุขภาพดี อีกทั้งช่วยลดความเครียดและชะลอวัยอีกด้วย ทั้งนี้เกิดจากการออกฤทธิ์ของสารสกัดจากโสมที่มีผลต่อการทำงานต่อมใต้สมองชื่อว่า พิทูอิตารี และการช่วยให้เซลล์ในร่างกายนำออกซิเจนและน้ำตาลกลูโคสไปใช้ได้มากขึ้น (Chen, Chiou & Zhang, 2008)
       7. ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ
         สารสกัดจากโสมช่วย กระตุ้นระบบไหลเวียนเลือดที่บริเวณอวัยวะเพศ จึงช่วยทำให้หลอดเลือดส่วนนั้นขยายตัว เนื่องจากงานวิจัยจาก PubMed Central พบว่า สารสกัดจากโสมช่วยเสริมสร้างการผลิตไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) ช่วยรักษาสมดุล ซ่อมแซม และป้องกันดูแลทุก ๆ เซลล์ของระบบภายในร่างกาย ช่วยเพิ่มการทำงานของกล้ามเนื้อเรียบของผนังหลอดเลือดผ่อนคลาย ทำให้เลือดหมุนเวียนได้ดี ส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้ดีขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ (Erectile dysfunction)
       จะเห็นได้ว่าโสมเกาหลีมีประโยชน์มากมายต่อสุขภาพ เราควรรับประทานในปริมาณเพียงพอเหมาะสม หรือเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่สกัดสารออกฤทธิ์ด้วยกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานและเทคโนโลยีเพื่อปรับสารสำคัญให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ ปรับโครงสร้างฤทธิ์ร้อนเย็นให้สมดุล นอกจากนี้การรับประทานร่วมกับวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ จะเป็นการเสริมสร้างความแข็งแรงและประสิทธิภาพในการบำรุงร่างกายได้เป็นอย่างดี
ที่มา https://www.healthline.com/nutrition/ginseng-benefits#TOC_TITLE_HDR_3 https://www.medicalnewstoday.com/articles/262982#side-effects
สุรพจน์ วงศ์ใหญ่. (2555). ผลทางเภสัชวิทยาของสารจินเซ็นโนไซด์ในโสมอเมริกาต่อสุขภาพ. วารสารพยาบาลทหารบก, 13(3): 90-94. Aburaya, J., Tanaka, J., Lim, J. H., Wen, T. C., Matsuda, N., Maeda, N., Peng, H., Ishihara, K., & Sakanaka, M. (1997). Protection of Ischemic hippocampal neurons by ginsenoside Rb1, a main ingredient of ginseng root, Ehime University School of Medicine, Japan. Neuroscience Research, 28: 191-200. Attele, A.S., Wu, J.A., & Yuan, C. S. (1999). Ginseng pharmacology multiple constituents and multiple actions. Biochemical Pharmacology, 58: 1685-1693. Chen, C.F., Chiou, W.F., & Zhang, J.T. (2008). Comparison of the pharmacological effects of Panax ginseng and Panax quinquefolium. Acta Pharmacologica Sinica, 29(9): 1103-1108. Oh, J., & Kim, JS. (2016). Compound K derived from ginseng: neuroprotection and cognitive protection. Natural Library of Medicine, 7(11): 4506-4515. Kang, S., Schini-Kerth, V., & Kim, N. (1995). Ginsenosides of the protopanaxatriol group cause endothelium-dependent relaxation in the rat aorta. Life Science, 56: 1577-86. Sun, K., Wang, C.S, Guo, J., Horie, Y., Fang, S.P., Wang, F., & Han, J. Y. (2007). Protective effects of ginsenoside Rb1, ginsenoside Rg1 and notoginsenoside R1 on lipopolysaccharide- induces microcirculatory disturbance in rat mesentery. Life Science, 81: 509-18. Zhang, J., Qu, Z., Liu, Y., & Deng, H. (1990). Preliminary study on antiamnesic mechanism of ginsenosides Rg1 and Rb1. Chinese Academy of Medical Sciences, Beijing, Chinese Medical Journal. 103(11): 932-938.

TAG
FOLLOW ME
Health & Wellness
Bring Happiness to Your
Good Health and Good Life

บริษัท เวลเนส กรีน ไลฟ์ จำกัด
ช65/4-5 ถ.สวรรค์วิถี ต.ปากน้ำโพ
อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ 60000

Tel : 091-459-6662 หรือ 056-222-662
Facebook : เวลเนส กรีน ช็อป
                 สาขานครสวรรค์
Line ID : @wglgoodlife
e-Mail : wellness.nsn@gmail.com
              info@wellnessgreenlife.co.th
www.wellnessgreenlife.com :  www.wellnessgreenlife.co.th :  www.wellnessgoodlifeshop.com
Copyright © 2021 Wellness Green Life All Rights Reserved.