Coenzyme Q10 คืออะไร ? ร่างกายสร้างเองได้หรือไม่ ? และดีอย่างไรต่อสุขภาพ ?

Coenzyme Q10 คืออะไร ?

         โคเอนไซม์คิวเท็น (Coenzyme Q10) หรือยูบิควิโนน (Ubiquinone) ในทางการแพทย์เรียกสั้น ๆ ว่า โคคิวเท็น (CoQ10) เป็นสารประกอบสำคัญที่อยู่ในหน่วยย่อยภายในเซลล์ของร่างกาย เรียกว่า ไมโตคอนเดรีย(Mitochondria) เป็นสารธรรมชาติที่ร่างกายสังเคราะห์จากสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและไขมันให้อยู่ในรูปพลังงานที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ มีความจำเป็นต่อการหายใจระดับเซลล์แบบใช้ออกซิเจน ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

         โคเอนไซม์คิวเท็นจะพบได้ในทุกเซลล์ของร่างกาย จัดเป็นเอนไซม์ร่วมที่มีคุณสมบัติกระตุ้นให้เกิดพลังงาน มีหน้าที่สำคัญในการผลิตพลังงานพื้นฐานของเซลล์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเซลล์ที่ต้องใช้พลังงานสูง เช่น หัวใจ ปอด ม้าม ตับ ตับอ่อน ต่อมหมวกไต สมอง ผิวหนัง เซลล์ไข่ และสเปิร์ม โดยเฉพาะอวัยวะหัวใจ ตับ และไตที่ทำงานหนักตลอดเวลา ป้องกันและต้านอนุมูลอิสระ เป็นภูมิคุ้มกันของร่างกายจากสารอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคที่เกิดจากเซลล์เสื่อมสภาพ หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน รวมทั้งมีหน้าที่ลดการสะสมของไขมันบริเวณผนังหลอดเลือด และป้องกันไขมันร้าย (LDL-C)

 

ร่างกายสร้างโคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10 เองได้หรือไม่ ?

         โดยปกติแล้วร่างกายมนุษย์สามารถสังเคราะห์โคเอนไซม์คิวเทนได้เอง จากกรดอะมิโนไทโรซีน (Tyrosine) และฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) ร่วมกับวิตามิน 7 ชนิด ได้แก่ วิตามินบี 2, วิตามินบี 3, วิตามินบี 6, วิตามินบี 12, กรดโฟลิก, กรดแพนโททีนิก และแร่ธาตุอีกจำนวนหนึ่ง แต่เนื่องจากปริมาณการสังเคราะห์โคเอนไซม์คิวเทนจะลดลงไปตามอายุ ความเสื่อมของเซลล์ ความเครียด พฤติกรรมการรับประทานอาหารและพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ดังนั้นผู้ที่มีปริมาณโคเอนไซม์คิวเทนในเลือดน้อย หรือผู้ป่วยโรคทางพันธุกรรมที่ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์โคเอนไซม์คิวเทนได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับโคเอนไซม์คิวเทนเข้าไปจากแหล่งภายนอกเพื่อทดแทน แหล่งอาหารที่มีปริมาณโคเอนไซม์คิวเทนสูงเช่น ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาแมคคอเรล ปลาแซลมอน น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง ผักโขม ถั่วลิสง บล็อกโคลี เป็นต้น ซึ่งร่างกายของคนโดยทั่วไปควรได้รับปริมาณโคเอนไซม์คิวเทน ปริมาณวันละ 30 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ดี

 

สาเหตุที่ทำให้การสร้างโคเอนไซม์คิวเทนในร่างกายลดลง

         1. การขาดสารอาหารบางอย่าง ได้แก่ วิตามินบี 6 วิตามินอี และซีลีเนียม

         2. ปัจจัยทางพันธุกรรมที่มีผลต่อการสังเคราะห์หรือใช้โคเอนไซม์คิวเทน

         3. ภาวะเครียด การทำงานหนัก และการพักผ่อนน้อย ส่งผลให้ร่างกายผลิตโคเอนไซม์คิวเทนได้น้อยลงและเพิ่มการใช้มากขึ้นจากภาวะเครียดออกซิเดชั่น (Oxidative stress) ร่างกายมีอนุมูลอิสระมากจนสารต้านอนุมูลอิสระมีไม่เพียงพอ ร่างกายจึงเกิดภาวะขาดโคเอนไซม์คิวเทน

         4. การได้รับรังสียูวี หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีมลภาวะสูง

         5. ภาวะความเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิดที่ทำให้ร่างกายใช้โคเอนไซม์คิวเทนมากเกินไป เช่น ไฮเปอร์ไทรอยด์ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคไต โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน เป็นต้น

         6. อายุที่เพิ่มขึ้น ปริมาณโคเอนไซม์คิวเทนในร่างกายจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 3-5 เท่าเมื่ออายุแรกเกิดจนถึง 20 ปี และเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่ออายุมากกว่า 20 ปี แต่โดยเฉลี่ยแล้วความหนาแน่นของโคเอนไซม์คิวเทนในร่างกายของเราจะลดลงอย่างชัดเจนเมื่อมีอายุ 30 ปีขึ้นไป

 

Coenzyme Q10 ดีต่อสุขภาพอย่างไร ?

         1. ระบบหัวใจและหลอดเลือด

             ช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง สามารถสูบฉีดเลือดให้ไหลเวียนไปตามหลอดเลือดได้ดี และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจต่าง ๆ ได้ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคผนังเส้นเลือดแดงแข็ง รวมทั้งช่วยลดการสะสมของไขมันบริเวณผนังหลอดเลือดและป้องกันไขมันร้ายชนิด LDL ซึ่งหากผนังหลอดเลือดมีไขมันชนิดนี้จับตัวอยู่มาก ก็จะทำให้หลอดเลือดแข็งตัว สูญเสียความยืดหยุ่นจนเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจ

         2. ช่วยลดภาวะเครียดออกซิเดชัน (Oxidative Stress) ซึ่งเป็นตัวการก่อโรคมากมาย

             ช่วยลดภาวะเครียดออกซิเดชัน อันเป็นปัจจัยต่อการเกิดโรคต่าง ๆ โคเอนไซม์คิวเทนจึงช่วยลดความเสี่ยงต่อกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (Non-Communicable Diseases) เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน

         3. ต้านอนุมูลอิสระ

             เป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยปกป้องเซลล์จากการทำลายของอนุมูลอิสระ เช่น มลพิษทางอากาศ ควันบุหรี่ แสงแดด คลื่นความร้อน รังสีแกมมา ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคมะเร็งบางชนิด นอกจากนี้ยังช่วยให้วิตามินอี ซึ่งเป็นหนึ่งในสารต้านอนุมูลอิสระสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้หลังจากถูกทำลายด้วยอนุมูลอิสระ

         4. ปกป้องดูแลผิวและลดริ้วรอย

            โคเอนไซม์คิวเทน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันการทำลายคอลลาเจนและอีลาสติน รวมทั้งเป็นสารที่ให้พลังงานแก่เซลล์ผิว ทำให้การทำงานของผิวมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการผลัดเซลล์ การซ่อมแซมเซลล์ผิว การสร้างเซลล์ผิวใหม่ และเกราะปกป้องผิว

         5. ลดความถี่ของการปวดไมเกรน

            การทำงานที่ผิดปกติของไมโตคอนเดรียส่งผลให้สมองมีพลังงานต่ำและเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน ผู้ที่มีอาการปวดหัวไมเกรนเรื้อรังจึงมีแนวโน้มที่จะขาดโคเอนไซม์คิวเทนได้มากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นการทานโคเอนไซม์คิวเทนเสริมจากแหล่งต่าง ๆ สามารถช่วยเพิ่มพลังงานให้กับเซลล์สมองและช่วยลดลดความถี่ของการปวดไมเกรนได้

 

ข้อแนะนำการทานโคเอนไซม์คิวเทน

            เนื่องจากโคเอนไซม์คิวเทน เป็นสารประกอบที่ละลายในไขมัน จึงทำให้ดูดซึมได้ช้าและจำกัด ดังนั้น    จึงควรรับประทานโคเอนไซม์คิวเทนพร้อมอาหารหรืออาหารเสริมที่มีไขมันหรือน้ำมัน เช่น น้ำมันปลา น้ำมันเคย น้ำมันกระเทียม น้ำมันโบราจ น้ำมันอโวคาโด น้ำมันรำข้าว ในปริมาณ 5-40 กรัม จะช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำดีเข้าสู่ลำไส้ ช่วยให้ร่างกายดูดซึมโคเอนไซม์คิวเทนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นถึง 3 เท่า และในขณะเดียวกันก็ทำให้การย่อยอาหารช้าลง นอกจากนี้โคเอนไซม์คิวเทนเป็นสารที่ไวต่อความร้อน การปรุงอาหารจึงควรใช้ระดับความร้อนและกรรมวิธีที่ช่วยรักษาโคเอนไซม์คิวเทนเอาไว้ ดังนั้นการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโคเอนไซม์คิวเทนที่ละลายอยู่ในน้ำมัน (แคปซูลนิ่ม) จึงเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง เพราะเป็นรูปแบบที่ดูดซึมได้ดีที่สุด

           โดยทั่วไปเราควรได้รับโคเอนไซม์คิวเทนในปริมาณวันละ 30 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง หรือมากกว่า 30 มิลลิกรัมตามความเหมาะสม สำหรับผู้สูงอายุ ผู้มีปัญหาสุขภาพหรือโรคประจำตัวนั้น      ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทาน ทั้งนี้ควรรับประทานควบคู่กับการปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้เป็นไปตามหลักธรรมชาติ ก็จะช่วยให้ท่านมีสุขภาพแข็งแรงและได้รับปริมาณโคเอนไซม์คิวเทนที่เพียงพอต่อวัน

 

 

ที่มา

เบญจมาศ โกมล. (2550). การศึกษาความคงตัวทางกายภาพของโคเอนไซม์คิวเทนที่เก็บกักในไลโปโซมเพื่อใช้

          ทางเครื่องสำอาง. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง.

มนพัทธ์ สุริยะวงศ์ทอง. (2562). การวัดระดับความรู้เกี่ยวกับโคเอนไซม์คิวเทนในผู้ป่วยโรคเรื้อรังชนิดไม่ติดต่อ

          ในเขตกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการชะลอวัยและฟื้นฟู

          สุขภาพ วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.

 

TAG
FOLLOW ME
Health & Wellness
Bring Happiness to Your
Good Health and Good Life

บริษัท เวลเนส กรีน ไลฟ์ จำกัด
ช65/4-5 ถ.สวรรค์วิถี ต.ปากน้ำโพ
อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ 60000

Tel : 091-459-6662 หรือ 056-222-662
Facebook : เวลเนส กรีน ช็อป
                 สาขานครสวรรค์
Line ID : @wglgoodlife
e-Mail : wellness.nsn@gmail.com
              info@wellnessgreenlife.co.th
www.wellnessgreenlife.com :  www.wellnessgreenlife.co.th :  www.wellnessgoodlifeshop.com
Copyright © 2021 Wellness Green Life All Rights Reserved.